ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 351,055.78 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 5, 2020 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (27 - 30 เมษายน 2563) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 351,055.78 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 87,763.94 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 3% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของ ตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 75% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 263,077 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่ แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 66,654 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออก โดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 7,492 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB236A (อายุ 3.1 ปี) LB25DA (อายุ 5.6 ปี) และ LB21DA (อายุ 1.6 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายใน แต่ละรุ่นเท่ากับ 7,011 ล้านบาท 6,286 ล้านบาท และ 6,127 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท รุ่น CPNREIT288A (AA) มูลค่าการซื้อขาย 721 ล้านบาท หุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รุ่น BAY21NA (AAA(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 690 ล้านบาท และหุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รุ่น BAY211A (AAA(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 688 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงประมาณ 3-5 bps. ด้านปัจจัยต่างประเทศ ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 28-29 เม.ย. 63 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% และจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัว และเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย ที่ระดับ 2% ขณะที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 63 มีมติผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% รวมถึงการยกเลิกเพดาน การซื้อพันธบัตรรัฐบาล และขยายโครงการซื้อสินทรัพย์ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้านผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 63 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวลงอย่างหนักในไตรมาสแรก โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม อย่างไรก็ดี ECB ระบุว่า พร้อมที่จะเพิ่มวงเงิน ซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หากมีความจำเป็น

สัปดาห์ที่ผ่านมา (27 เม.ย. 63 - 30 เม.ย. 63) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 8,003 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (ST) (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 250 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (LT) (อายุมากกว่า 1 ปี) 8,253 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ

หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย	                              สัปดาห์นี้	   สัปดาห์ก่อนหน้า     เปลี่ยนแปลง              สะสมตั้งแต่ต้นปี
	                                              (27 - 30 เม.ย. 63)   (20 - 24 เม.ย. 63)           (%)   (1 ม.ค. - 30 เม.ย. 63)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)              351,055.78           363,328.23        -3.38%             8,056,078.79
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                                 87,763.94            72,665.65        20.78%                95,905.70
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                       118.5               118.33         0.14%
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index)                        105.37                105.6        -0.22%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้                     1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (30 เม.ย. 63)                    0.48       0.58    0.64    0.74    0.91     1.21     1.36     2.24
สัปดาห์ก่อนหน้า (24 เม.ย. 63)               0.53       0.62    0.65    0.77    0.92     1.24     1.35      2.3
เปลี่ยนแปลง (basis point)                   -5         -4      -1      -3      -1       -3        1       -6

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ