บลจ.ยูโอบี เปิดตัวกองทุน UEDTECH ลงทุนธีมเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่แนวโน้มโตแรงเสนอขายถึง 19 พ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 11, 2020 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) หรือ UOBAM เปิดเผยว่า จากการประเมินธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ที่เรียกว่า Education Technology ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างธุรกิจการศึกษา (Education) และเทคโนโลยี (Technology) พบว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจุดเด่นของธุรกิจดังกล่าวคือการนำเสนอระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่นำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและดิจิทัลคอนเทนท์ รวมถึงระบบต่างๆ มาปรับใช้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่ได้ดียิ่งขึ้น เช่น สามารถเข้าถึงการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านระบบออนไลน์ สามารถรองรับผู้เรียนจำนวนมากได้พร้อมกัน สามารถโต้ตอบแบบ Interactive ได้ทันที รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบ Simulator มาใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

ขณะที่ระบบการศึกษาในห้องเรียนแบบปัจจุบัน เริ่มไม่ตอบโจทย์การเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ได้แก่ 1. ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการเรียนในสถาบันที่มีคุณภาพสูง โดยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในสหรัฐอเมริกานับจากปี 2521 – 2561 เพิ่มขึ้นถึง 1,225% สูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 634% และ 279% ตามลำดับ 2. อาจารย์ไม่สามารถสอนนักเรียนจำนวนมากได้พร้อมกัน 3. ไม่สามารถให้คำแนะนำแก่นักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างทั่วถึง และ 4. นักเรียนที่เป็นเจเนอเรชั่น Z ชอบความยืดหยุ่นในการเรียน ส่งผลให้การเรียนในรูปแบบ Education Technology ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บลจ. ยูโอบี มองว่าการศึกษาที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในปัจจุบัน เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในระยะยาว จากรายงานของ Frost and Sullivan1 คาดว่าการเติบโตของกลุ่ม Global EdTech เฉลี่ยอยู่ที่ 18.3% ต่อปี โดยจะมีขนาดใหญ่ถึง 4 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์ ภายในปี 2565 อีกทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ในปัจจุบัน จะเป็นปัจจัยเร่งความต้องการด้านการศึกษาสมัยใหม่ทางออนไลน์ ทั้งจากสถาบันการศึกษาที่มีความต้องการพัฒนาระบบการเรียนการสอนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ" (ที่มา : Credit Suisse Asset Management, 1Growth Opportunities in the Education Technology Market, Forecast to 2022, Frost and Sullivan) นางสาวรัชดา กล่าวว่า บลจ. ยูโอบี มีความเห็นเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเป็นรูป U-shaped หลังจากที่การระบาดถึงจุดสูงสุดในสหรัฐในเดือนมิถุนายน จากนั้นจะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ตัวเลขการจ้างงานจะค่อยๆต่ำลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา ปัจจัยสำคัญคือการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงการเพิ่มความเชื่อมั่นให้มีการดำเนินชีวิตได้ตามปกติได้เร็วมากขึ้นเท่าใด จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นเร็วมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ในภาพรวมภาคการผลิตและภาคบริการจีนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งภาคผลิตและภาคบริการกลับมายืนเหนือระดับ 50 ได้ในเดือนมีนาคม โดย Manufacturing PMI อยู่ที่ระดับ 52.0 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 35.7 คาดว่าจีนจะฟื้นตัวและสร้างโอกาสการลงทุนในระยะยาวได้เร็วกว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับ สหรัฐ และยุโรป

สำหรับประเทศไทยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆจากภาครัฐ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ระยะที่สาม มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท รวมเม็ดเงินที่เข้าอัดฉีดรวมในระบบทั้งหมดประมาณ 12% นั้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดการลงทุนเริ่มตอบรับในทางบวก และมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ในระยะยาว" (ที่มา : Goldman Sachs and www.investing.com, ณ มี.ค. 2563) "การเข้าลงทุนในหุ้นขณะนี้ถือเป็นจังหวะดีที่นักลงทุนจะเข้าทยอยสะสม โดยเฉพาะในกองทุนหุ้นที่ลงทุนในบริษัทที่รายได้หลักมาจากเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในสภาวะปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้นกองทุน UEDTECH จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกในระยะ 2-3 ปีขึ้นไป" นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า บลจ. ยูโอบี เห็นโอกาสลงทุนในธุรกิจ Education Technology จึงเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) กองทุนเปิด ยูไนเต็ด เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี ฟันด์ (UEDTECH) ที่เข้าลงทุนในธุรกิจภายใต้ธีม ดังกล่าวเป็นกองทุนแรกในประเทศไทย ในวันที่ 11 – 19 พฤษภาคม 2563 เป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ Credit Suisse (Lux) Edutainment Equity Fund – Class IBP USD (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยมีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่ม Global Technology Companies บริหารพอร์ตการลงทุนให้อย่างใกล้ชิด" กองทุน Credit Suisse (Lux) Edutainment Equity Fund – Class IBP USD มีมูลค่าสินทรัพย์กว่า 579.83 ล้านเหรียญสหรัฐ (ณ 31 มีนาคม 2563) มีนโยบายลงทุนในหุ้นภายใต้ธีม Education Technology ทั่วโลก ประกอบด้วย ธุรกิจด้าน Innovative Services หรือบริษัทที่เน้นการใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อให้บริการด้านการศึกษา เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัยออนไลน์ ผู้ให้บริการ e-learning เป็นต้น ธุรกิจด้าน Digital Content ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตเนื้อหาสื่อการสอนออนไลน์และออฟไลน์ สำนักพิมพ์ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ ผู้พัฒนาคอร์สเรียนและผู้ผลิตสื่อดิจิทัล และธุรกิจ Systems and Tools ได้แก่ ผู้ผลิตระบบ Interactive รองรับการโต้ตอบสื่อสาร ระบบ AR/ VR/ AI แพลตฟอร์ม e-learning รวมถึงระบบบริหารจัดการข้อมูลและเนื้อหา"

กองทุนหลักมีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Bottom-up เน้นคัดกรองคุณภาพทุกด้าน ทั้งความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร ความโดดเด่นของสินค้าและบริการ ฐานะการเงิน ศักยภาพเติบโตและความเป็นผู้นำตลาด โดยจะคัดเลือกหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษา ไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อเข้าลงทุนในพอร์ตประมาณ 40 - 60 ตัว เน้นการลงทุนระยะยาว จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนในกองทุนรวมตั้งแต่ 2 – 3 ปีขึ้นไป ขณะที่กองทุน Credit Suisse (Lux) Edutainment Equity Fund – Class IBP USD (กองทุนหลัก) ให้ผลการดำเนินงานย้อนหลังที่โดดเด่น โดยตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (25 ก.ย. 2562) โดยมีผลการดำเนินงานชนะเกณฑ์มาตรฐานถึง 7.1%* และชนะดัชนี MSCI World 8.4%** แม้จะอยู่ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูงก็ตาม (ที่มา Morningstar Direct ณ 4 พ.ค. 2563)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ