(เพิ่มเติม) PTT จับมือ กฟผ.ร่วมศึกษา-พัฒนาโครงการ LNG Receiving Facilities ภาคใต้เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 12, 2020 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) PTT จับมือ กฟผ.ร่วมศึกษา-พัฒนาโครงการ LNG Receiving Facilities ภาคใต้เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) พร้อมด้วย นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Receiving Facilities สำหรับ รับ เก็บ และแปรสภาพก๊าซ LNG ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน

นายชาญศิลป์ เปิดเผยว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ฉบับใหม่นั้น ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้าภาคใต้ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ปตท.และ กฟผ.จึงเริ่มการศึกษาร่วมกัน ถึงความเป็นไปได้ของโครงการ LNG Receiving Facilities เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

"ความร่วมมือในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองหน่วยงานจะได้ใช้ศักยภาพ ความเชี่ยวชาญตลอดจนประสบการณ์ ทั้งด้านการจัดหาและบริหารจัดการพลังงาน รวมทั้งด้านการจัดหา ผลิต และส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า มาร่วมกันพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ"นายชาญศิลป์ กล่าว

นายวิบูลย์ กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงในวันนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือของทั้งสององค์กร เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าความมั่นคงทางพลังงานของประเทศจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

สำหรับโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยตามแผนดังกล่าว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนอม (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ของบมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) กำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 - 2 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ หรือ Commercial Operation Date (COD) ในปี 2570 และ 2572 และ โรงไฟฟ้าใหม่ ที่คาดจะ COD ในปี 2578 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ กฟผ. และ ปตท. จึงร่วมกันศึกษาโครงการ LNG Receiving Facilities เพื่อเป็นการรองรับการนำเข้า LNG และเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต

ด้านนายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ของปตท. กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือศึกษาในโครงการ LNG Receiving Facilities ครั้งนี้ มีอายุสัญญา 2 ปี แต่จะเร่งศึกษาให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในพื้นที่ภาคใต้

ส่วนการร่วมลงทุนยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ปตท.มีความชำนาญเรื่องท่อก๊าซฯ และสถานีรับ-จ่ายก๊าซฯ ขณะที่กฟผ.มีความเชี่ยวชาญโรงไฟฟ้า ดังนั้น อาจจะแยกกันลงทุนตามความชำนาญหรือจะร่วมลงทุนกันก็ได้ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซฯที่จังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ววางท่อก๊าซฯไปยังโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี

ขณะที่การขายก๊าซฯป้อนโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ของบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา เบื้องต้นเห็นว่าหาก RATCH จะนำเข้า LNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าของตัวเองอาจจะมีปัญหาด้านคุณภาพก๊าซฯ รวมทั้งการจัดส่งก๊าซฯผ่านท่อจากภาคตะวันออกไปยังจังหวัดราชบุรีเป็นระยะทางค่อนข้างไกล ดังนั้น ก๊าซฯที่จะป้อนให้โรงไฟฟ้าหินกองที่เหมาะสมควรมาจากเมียนมา ซึ่งปตท.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการคลัง LNG ลอยน้ำ (FSRU) ที่เมียนมา แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ เพราะหากปตท.จะลงทุนคงต้องมีความต้องการใช้ก๊าซฯในไทยในปริมาณที่มากจึงคุ้มการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ