ที่ปรึกษาสมาคมโบรกฯ เชื่อกระทบจำกัดกรณี AEC ถูกระงับกิจการหลัง NC ต่ำกว่าเกณฑ์, วอนนักลงทุนอย่า Panic

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 27, 2020 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานคณะที่ปรึกษาสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า จากกรณีบล.เออีซี (AEC) ต้องระงับการดำเนินธุรกิจตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เนื่องจาก บล.เออีซี มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ต่ำกว่าศูนย์ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการนั้น เบื้องต้นนักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายกับ บล.เออีซี ไม่ต้องเป็นกังวลและอย่าตื่นตระหนก เพราะสินทรัพย์ของนักลงทุนได้ถูกแยกส่วนออกมาไม่เกี่ยวข้องกับความเสียหายของบริษัท ดังนั้น นักลงทุนที่ยังไม่อยากขายหุ้นในบัญชีก็สามารถย้ายบัญชีไปยังบริษัทหลักทรัพย์อื่นได้ ซึ่งทางศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) จะเป็นผู้โอนหุ้นให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกรณี บล.เออีซี เข้าไปลงทุนในหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย (THAI) ส่งผลให้เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ติดลบ มองว่าเป็นผลกระทบในวงจำกัดหรือเป็นรายบริษัทหลักทรัพย์เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าบริษัทหลักทรัพย์รายอื่นไม่น่าจะเข้าไปลงทุนในหุ้นกู้ของ THAI จนได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะตามปกติบัญชีซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะมีหน้าที่ดูแลและซื้อขายในใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants) , จับคู่ Block Trade หรือสินทรัพย์อื่น ๆ เท่านั้น ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์นำเงินไปลงทุนด้วยตัวเอง

"ที่ผ่านมาสมาคมโบรกฯได้ปรับปรุงเกณฑ์และแนวทางปฎิบัติมาโดยตลอดและเห็นได้ชัดเจนว่าสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแต่ละโบรกฯได้ทุกสภาวะ สะท้อนจากในช่วง 1-2 เดือนที่แล้วราคาสินทรัพย์ผันผวนอย่างหนัก แต่โบรกฯสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงของตัวเองและบัญชีมาร์จิ้น (มาร์จิ้นโลน) ของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ขณะที่การดำเนินธุรกิจแต่ละโบรกฯได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ มีบทเรียนต่าง ๆ มาเยอะ มีการปรับกระบวนการทำงานสอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อดูแลลูกค้าและธุรกิจของตัวเอง"นางภัทธีรา กล่าว

แหล่งข่าววงการบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า แม้ว่า บล.เออีซี จะถูกระงับการดำเนินธุรกิจเนื่องจากเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) และมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) น้อยกว่าหลักเกณฑ์กำหนด แต่หาก บล.เออีซี ดำเนินการยื่นแผนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามกรอบเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. ทาง บล.เออีซี ก็จะได้รับอนุญาตให้กลับมาประกอบธุรกิจได้ตามเดิม

เอกสารชี้แจง บล.เออีซี รายงานว่า สาเหตุที่ทำให้เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากว่าในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ที่มีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับ NC ของบริษัทจะต้องคำนวณ Large Exposure Risk - "LER" วิธีที่ 2 ตามประกาศที่ สธ. 50/2560 และ สธ.61/2562 เรื่อง การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ซึ่งบริษัทได้มีการลงทุนในหุ้นกู้บมจ.การบินไทย (THAI) ซึ่งถูกลด credit rating จาก A เป็น C อย่างกะทันหัน

รวมถึงหุ้นกู้อื่นที่ถือ ถึงแม้จะเป็น Investment grade ที่สูงมากในระดับไม่ต่ำกว่า BBB ถึง AA ได้แก่ หุ้นกู้บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ,บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) ,บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ,บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ,บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ,บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีฐานะการเงินมั่นคงเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และหุ้นกู้ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) สัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 100%) และหุ้นกู้ TBEV ซึ่งเป็นหุ้นกู้ของบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

แต่ด้วยการลงทุนในหุ้นกู้ข้างต้นมีมูลค่าในแต่ละรายการในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 75% เมื่อเทียบกับ NC ของบริษัท จึงเป็นเหตุให้บริษัทต้องคำนวณค่าความเสี่ยง LER วิธีที่ 2 โดยปรับค่าความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่มีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 75% เมื่อเทียบกับ NC ของบริษัทเป็น 100% ทำให้หุ้นกู้ดังกล่าวไม่สามารถนับเป็น liquid asset ตามหลักการ NC ได้ทั้งจำนวน ถึงแม้ว่าผู้ออกหุ้นกู้ดังกล่าวยังมีฐานะการเงินมั่นคงและมี credit rating ดี และยังคงคาดว่าจะได้รับการชำระหนี้คืน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ NC และ NCR ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะดำเนินการยื่นแผนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 30 วัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และคาดว่าจะดำเนินการตามแผนงานที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ให้แล้วเสร็จ ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 90 วัน ซึ่งตามแผนงานทั้งหมดบริษัท จะเร่งดำเนินการเพื่อให้เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) อยู่ในระดับตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยเร็วที่สุด และขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้กลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ถือหุ้น ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสีย

https://youtu.be/Zj9ukVNmCAk


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ