BGRIM หนุนรัฐปรับสูตรราคาก๊าซฯ เตรียมนำเข้า LNG ใช้ในโรง SPP 5 โครงการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 1, 2020 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลส่งเสริมการแข่งขันธุรกิจก๊าซธรรมชาติ หลังได้ออกใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงกลุ่มบริษัทด้วยนั้น รัฐบาลก็ควรพิจารณาปรับสูตรโครงสร้างราคาก๊าซฯทั้งระบบ โดยราคาก๊าซฯอ่าวไทยไม่ควรอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ประชาชนคาดหวังค่าไฟฟ้าที่ลดลงเช่นกัน ดังนั้น จึงควรยกเลิกการอิงราคาย้อนหลัง 6 เดือนเพื่อให้สะท้อนราคาตลาดโลก ขณะที่ปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจรอยู่ที่ประมาณ 2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาเพื่อปรับสูตรราคาก๊าซฯที่บมจ.ปตท. (PTT) จำหน่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ให้มีราคาใกล้เคียงกัน เนื่องจากปัจจุบันราคาก๊าซฯที่ขายให้กับ SPP มีราคาแพงกว่า IPP ประมาณ 9 บาท/ล้านบีทียู เนื่องจากต้นทุนค่าไฟฟ้าพบว่า 70% มาจากค่าเชื้อเพลิง หากค่าก๊าซฯลดลงจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงเช่นกัน

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า SPP นับว่าเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น เรื่องค่าไฟฟ้าก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ เพราะขณะนี้เวียดนามค่าไฟฟ้าเพียง 2.70 บาท/หน่วย แต่ไทยอยู่ที่ประมาณ 3.50 บาท/หน่วย

ส่วนความคืบหน้าการนำเข้า LNG ของกลุ่มบริษัท ภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาต Shipper จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จำนวน 6.5 แสนตัน/ปีนั้น มีแผนที่จะนำเข้าเพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้า SPP ประเภทพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) ของกลุ่มบริษัท เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP ที่หมดอายุ (Replacement) ทั้งหมด 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ (MW)

บริษัทฯได้ว่าจ้าง Wood Mackenzie เป็นที่ปรึกษา คาดว่าจะสามารถสรุปพันธมิตรในการจัดซื้อ LNG ได้เร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นพิจารณานำเข้า LNG จากหลายแหล่ง โดยเฉพาะกาตาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีผู้ติดต่อจำหน่ายให้เป็นจำนวนมากทั้งเทรดเดอร์และผู้ผลิต โดยเสนอในราคาระดับต่ำ เบื้องต้นบริษัทพิจารณาซื้อขั้นต่ำสัญญา 15 ปี เนื่องจากในขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ซื้อ ส่งผลดีต่อราคา LNG ระยะยาว และสุดท้ายราคา LNG ที่ถูกลงจะสะท้อนไปยังต้นทุนค่าไฟฟ้าของลูกค้าที่ลดลงเช่นกัน

นางปรียนาถ กล่าวว่า สำหรับแผนลงทุนในปีนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) 3 โครงการ กำลังการผลิตรวมกว่า 300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในไทย 2 โครงการ และในต่างประเทศ 1 โครงการ คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ ขณะเดียวกันโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯที่เวียดนาม หลังลงนามสัญญาความร่วมมือกับบริษัท ปิโตรเวียดนาม เพาเวอร์ เพื่อศึกษาและพัฒนาโรงไฟฟ้า ขนาด 3,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด แต่โรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ของเวียดนามแล้ว นอกจากนี้บริษัทยังศึกษาเพื่อขยายลงทุนโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ที่เวียดนามเพิ่ม เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิตรวมกว่า 200 เมกะวัตต์

ดังนั้น มั่นใจว่าบริษัทจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย 5,000 เมกะวัตต์ในปี 65 จากปัจจุบันมีสัญญาไฟฟ้าแล้ว 3,547 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3,019 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างก่อสร้าง นอกจากนี้บริษัทฯกำลังเจรจาขยายการลงทุนทั้งสร้างโรงใหม่ ซื้อกิจการ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้

นางปรียนาถ กล่าวอีกว่า บริษัทฯคงรายได้ปีนี้เติบโต 10-15% จากปีก่อน มาจากลูกค้ารายใหม่ที่รับซื้อไฟฟ้าตามแผนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันด้านต้นทุนราคาก๊าซฯทยอยปรับลดลง โดยล่าสุดทางปตท.ปรับลดราคาก๊าซฯ หลังมีการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1/63 ราคาก๊าซฯเฉลี่ย 267 บาท/ล้านบีทียู ,ไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 265 บาท/ล้านบีทียู ,ไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 232 บาท/ล้านบีทียู และไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 210 บาท/ล้านบีทียู

นอกจากนี้เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจบริษัทได้มีกู้เงิน 9 พันล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสด 2.1 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ