THAI คาดศาลสั่งฟื้นฟูพร้อมตั้งผู้ทำแผนปลายส.ค.-ต้นก.ย.เชี่อเจ้าหนี้-รัฐร่วมผลักดันสำเร็จ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 8, 2020 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง บมจ.การบินไทย (THAI) คาดว่าในช่วงปลายเดือน ส.ค.ถึงต้นเดือน ก.ย.63 นี้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และแต่งตั้งผู้จัดทำแผน หลังจากวันที่ 17 ส.ค.63 ศาลฯ นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผู้ทำแผนจะมีระยะเวลาจัดทำแผนฟื้นฟู 3 เดือน เพื่อยื่นให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.64

จากนั้นคาดว่าในช่วงปลายเดือน เม.ย.64 ศาลจะมีคำสั่งรับแผนฟื้นฟู และแต่งตั้งผู้บริหารแผน เพื่อทำตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป โดยมีกรอบระยะเวลาฟื้นฟู 5 ปี และขยายเวลาได้ 2 ครั้งๆ ละ 1ปี

ทั้งนี้ THAI ได้แต่งตั้งผู้ทำแผนซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท ได้แก่ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่จะนำเสนอต่อศาลฯ ต่อไป

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ประกอบด้วย

1.การปรับโครงสร้างหนี้ โดยบริษัทเจรจาเจ้าหนี้ประเภทต่างๆ ที่ให้ภาระการชำระหนี้และระยะเวลาการชำระหนี้สอดคล้องกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท หรือการขยายระยะเวลาการชำนะหนี้ ปรับลดเงินต้น ดอกเบี้ย หรือลดหนี้บางส่วน หรือพักการชำระหนี้ รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นและปรับโครงสร้างเงินทุนในระยะยาว

2.ปรับปรุงเส้นทางการบินและฝูงบิน โดยบริหารจัดการหรือยกเลิกเส้นทางที่ไม่ทำกำไร หรือไม่สามารถปรับปรุงให้สามารถทำกำรในอนาคตได้, ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเส้นทางการบินให้เหมาะสมมากขึ้น, ปรับลดประเภทของเครื่องบินในฝูงบินเพื่อลดต้นทุน

3.ปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น การจัดตั้งบริษัทย่อย เป็นต้น , จัดหาพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมทุน , หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของหน่วยธุรกิจ

4.ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ โดยปรับปรุงระบบและรูปแบบการจำหน่ายบัตรโดยสาร โดยเป็นการจำหน่ายตรง ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ อินเตอร์เน็ต และแพลตฟอร์มต่างๆมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาขีความสามารถในการหารายได้ ปรับปรุงโครงสร้างการคิดค่าตอบแทน เงื่อนไข และการประเมินผลงานของตัวแทนจำหน่ายให้เหมาะสมและรัดกุมมากยิ่งขึ้น นำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำหนดราคาบัตรโดยสารและการปล่อยที่นั่งให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาด

5.ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร จะปรับปรุงองค์กรให้กระชับ ลดลงานที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น เพิ่มศักยภาพการทำงานในแต่ละหน่วยธุรกิจให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน และพิจารณาปรับจำนวนพนักงานและสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำลังการผลิตของการบินไทย

อย่างไรก็ดี การบินไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน และสวัสดิการของพนักงานเปลี่ยนไปเข้าระบบประกันสังคมตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นางสาวอรอนงค์ กล่าวถึงจุดแข็งของธุรกิจหลักของการบินไทย คือ การเป็นบริการขนส่งทางอากาศแบบเต็มรูปแบบ (Full Service) ที่มีความแข็งแกร่งและประกอบธุรกิจมาอย่างยาวนาน มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจและมีศักยภาพในการฟื้นฟูกิจการ โดยเป็นผู้ประกอบธุรกิจการบินที่ได้รับสิทธิการบินและเส้นทางบินไปยังเมืองสำคัญต่างๆทั่วโลก มีเครือข่ายการบินครอบคลุมทั่วโลก และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรสายการบิน Star Alliance รวมทั้งมีสิทธิในการนำเครื่องบินโดยสารขึ้นลงและจอดรับผู้โดยสารตามเมืองต่างๆ ทั่วโลกจำนวนมากที่สุดของไทย ประกอบกับการบินไทยได้รับรางวัลในระดับสากลที่ยืนยันคุณภาพในการบริการและความปลอดภัย และมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่องหลายกลุ่ม

นอกจากนี้ การบินไทยยังดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่มีพื้นฐานดีและมีโอกาสจะเติบโตได้ในอนาคต เช่น ธุรกิจการให้บริการคลังสินค้า ธุรกิจครัวการบินธุรกิจการบริการลูกค้าภาคพื้น ธุรกิจการบริการอุปกรณ์ภาคพื้น เป็นต้น

รวมทั้งการบินไทยได้สั่งสมชื่อเสียง และมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน เป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจรวมถึงพนักงานและบุคคลากรที่มีความสามารถและความชำนาญพร้อมที่จะนำพาการบินไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤติในครั้งนี้

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟุกิจการ ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ที่เพียงพอตามข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งในการพิจารณาแต่งตั้งผู้ทำแผน การพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน และการพิจารณาแต่งนตั้งผู้บริหารแผน รวมถึงการสนับสนุนของรัฐบาลในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการ โดยรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อติดตามและให้คำแนะนำในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบินไทยสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทประสบความสำเร็จ

ขณะที่จะต้องมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ แนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในอนาคตที่จะมี New Normal ในการเดินทาง การจำกัดจำนวนผู้โดยสาร และค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน การชะลอตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น และยังมีสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิ เส้นทาง และเวลาการบิน การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและระเบียบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็น ความผันผวนของราคาน้ำมัน จำนวนหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้ ความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนฯ

ด้านศาตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของ THAI กล่าวว่า หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.63 และนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 17 ส.ค.นี้ โดยศาลฯ จะพิจารณา 3 ประเด็น คือ สถานะหนี้สิน ความสามารถชำระหนี้ , มีเหตุให้ต้องฟื้นฟูกิจการ และ ความเหมาะสมของบุคคลที่เป็นผู้จัดทำแผน

หลังจากเข้าสู่ช่วงที่ 2 ที่จะตั้งผู้ทำแผน และจัดทำแผนให้เสร็จสิ้นในระยะเวลา 5 เดือน หรือถึง 1 ปี ขึ้นอยุ่กับการสนับสนุนของเจ้าหนี้ว่าจะเห็นชอบหรือคัดค้านแผนหรือไม่ โดยจะมีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ และช่วงสุดท้ายจะมีการแต่งตั้งผู้บริหารแผน กรอบระยะเวลา 5 ปีในการฟืนฟูกิจการ และขยายไม่เกิน 2 ครั้งไม่เกิน 2 ปี หรือไม่เกิน 7 ปี โดยการฟื้นฟูกิจการโดยปกติจะมีการแปลงหนี้เป็นทุน ชำระหนี้บางส่วน และการขายสินทรัพย์

ส่วนประเด็นความกังวลว่าอาจถูกเจ้าหนี้ยึดเครื่องบินนั้น ปัจจุบันการบินไทยได้เริ่มเจรจาเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน หลายรายยินดีให้ใช้เครื่องบินต่อไป และไม่มีแผนจะเข้ายึดเครื่องบินระหว่างบินไปต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็จะขอให้ศาลในต่างประเทศรับรองการฟื้นฟูกิจการในไทย ซึ่งขณะนี้รับรองแล้วใน 2 ประเทศ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้แนวทางยื่น Chapter 11 ในสหรัฐ แต่ก็ยังไม่ได้ตัดออก โดยจะเก็บไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการผู้จัดการ บล.ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน THAI กล่าวว่า การจัดหาเงินทุนเป็นส่วนหนึ่งของแผน โดยอาจเป็นการแปลงหนี้เป็นทุน หรือเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือเปิดรับทุนจากพันธมิตรใหม่เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง ส่วนการปรับโครงสร้าง ขึ้นกับความจำเป็นของแผนฟื้นฟู อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับผู้ทำแผนจะพิจารณา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ