THCOM พุ่ง 8.47% เกณฑ์ส่งดาวเทียมใหม่ของรัฐช่วยเพิ่มทางเลือกประคองธุรกิจระยะยาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 9, 2020 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น THCOM ราคาพุ่งขึ้น 8.47% มาอยู่ที่ 4.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.32 บาท มูลค่าซื้อขาย 110.40 ล้านบาท เมื่อเวลา 11.18 น. โดยเปิดตลาดที่ 3.84 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 4.24 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 3.82 บาท

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯปรับเพิ่มคำแนะนำขึ้นเป็น"ซื้อ"หุ้น บมจ.ไทยคม (THCOM) จากภาพรวมสัญญาณบวกกฎเกณฑ์ส่งดาวเทียมใหม่ที่มีความคืบหน้าเป็นบวกต่อ THCOM ที่จะอยู่รอดต่อไปได้ในระยะยาว ประกอบกับ มูลค่าพื้นฐาน THCOM ที่ 4.4 บาท ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานอนุรักษ์นิยมที่ระยะยาวมีบริการดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 โดยยังไม่รวมผลบวกการส่งดาวเทียมใหม่ทดแทน iPSTAR ยังมี Upside ราว 16% พอลงทุนได้

สัญญาณอยู่รอดระยะยาวชัดขึ้น หลังคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เริ่มแผนจัดสรรวงโคจรดาวเทียม ช่วย THCOM มีทางเลือกบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิม และหนุนระยะยาวคาดหวังดาวเทียมที่มีให้บริการมากกว่าสมมติฐาน

วานนี้ กสทช. จัดประชุมรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) เกณฑ์การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ความคืบหน้าถือเป็นบวกต่อ THCOM เนื่องจากดาวเทียม 4 ดวง อยู่บนใบอนุญาต 2 ดวง คือ ไทยคม 7 และ 8 ซึ่งยังมีอายุบริการอีกนาน ปัจจุบันยังมีข้อพิพาทกับรัฐฯอยู่ เชื่อว่าความชัดเจนดังกล่าวน่าจะช่วยระยะยาวข้อพิพาทสิ้นสุดลงได้ง่ายขึ้น รวมถึงผลบวกต่อดาวเทียมสัมปทาน 2 ดวง คือ iPSTAR และไทยคม 6

แม้คาดดาวเทียมสัมปทาน 2 ดวง THCOM ต้องโอนให้บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) หลังสิ้นอายุสัมปทานปี 2564 แต่ในส่วน iPSTAR ที่ใช้งานถึงปี 2566 เชื่อว่า THCOM น่าจะต้องการรักษาลูกค้า iPSTAR (ใช้บริการอินเทอร์เนต) ที่ยังมีโอกาสเติบโตไว้ ยังต้องการดาวเทียมใหม่รองรับ โดย THCOM อยู่ระหว่างกำหนดแนวทางระหว่าง 1) ใช้วงโคจรในประเทศ ที่กรณีดังกล่าวน่าจะเดินหน้าสู่การร่วมประมูลวงโคจรไทยที่มีความคืบหน้าจาก กสทช.ดังกล่าว และ 2) ร่วมทุนสร้างดาวเทียมกับต่างประเทศ และใช้วงโคจรต่างประเทศ

ทั้งนี้ แนวทาง กสทช. ช่วยให้ THCOM มีทางเลือกมากขึ้นในส่วนดาวเทียมใหม่ ขณะที่ความคืบหน้าดังกล่าวภาพรวมช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ระยะยาวที่ THCOM จะอยู่รอดได้ และมีโอกาสที่บริษัทจะมีดาวเทียมให้บริการระยะยาวมากกว่าสมมติฐานที่กำหนดให้มีเหลือเฉพาะไทยคม 7 และ 8

แม้ปัจจุบันฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างติดตามพัฒนาการแผนดาวเทียมทดแทน iPSTAR แต่เชื่อว่าความชัดเจนแนวทางการจัดสรรในประเทศจะช่วยเปิดทางเลือกให้ THCOM สามารถใช้ประคองธุรกิจระยะยาวดีขึ้นกว่าก่อนหน้าที่ไม่มีความชัดเจน เป็นการยืนยันภาพของการผ่านจุดตกต่ำ ขณะที่ระยะสั้น เชื่อว่าผลประกอบการเริ่มอยู่ในระดับประคองตัวระดับขาดทุนไม่สูงได้ หลังต้นทุนลดลงไปมากจากการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนดาวเทียมหลายครั้ง และควบคุมต้นทุนทุกส่วนเข้มงวด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ