ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร BFIT ที่"BBB+" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 10, 2020 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บง.ศรีสวัสดิ์ (BFIT) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักของ บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) หรือกลุ่มศรีสวัสดิ์

ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนฐานเงินทุนและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแรง รวมถึงสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการมีสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันจำนวนมาก รวมทั้งคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม และความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่อยู่ในระดับปานกลางของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มศรีสวัสดิ์ บริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มศรีสวัสดิ์ที่ให้บริการสินเชื่อแก่ฐานลูกค้าของกลุ่มนอกเหนือจากบริษัทย่อยอื่น ๆ ของกลุ่ม เช่น บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด และ บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เป็นต้น ณ เดือนมีนาคม 2563 ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทคิดเป็น 49% ของยอดสินเชื่อคงค้างของกลุ่มตามงบการเงินรวม อีกทั้งผลกำไรของบริษัทยังคิดเป็น 34% ของกำไรสุทธิของกลุ่มในไตรมาสแรกของปี 2563 อีกด้วย

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มในปี 2560 หลังจากที่ SAWAD เข้ามาถือหุ้นในบริษัท บริษัทก็มุ่งเน้นในตลาดที่แตกต่างไปจากบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 และได้ใช้เครือข่ายสาขาของบริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 ในการขยายฐานลูกค้าและพอร์ตสินเชื่อ ส่วนในด้านการสนับสนุนทางการเงินนั้น นอกจากการได้รับเงินเพิ่มทุนจำนวน 5.9 พันล้านบาทจากบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น ในปี 2562 แล้ว บริษัทยังได้รับวงเงินสินเชื่อจากบริษัทแม่ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมของบริษัทอีกด้วย

แรงกดดันจากสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน อันดับเครดิตของบริษัทได้รับแรงกดดันบางส่วนจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกหนี้และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องจากการปล่อยกู้ค่อนข้างมากในกลุ่มลูกหนี้ที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ณ เดือนธันวาคม 2562 สินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันมีสัดส่วนคิดเป็น 36% ของยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทซึ่งอยู่ที่จำนวนราว ๆ 1.9 หมื่นล้านบาท ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอาจเกิดขึ้นได้จากการที่กระบวนการยึดทรัพย์และขายทอดตลาดในกรณีผิดนัดชำระหนี้ของอสังหาริมทรัพย์นั้นใช้เวลานาน

ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกหนี้อาจทำให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของลูกหนี้อาจบรรเทาลงได้จากการที่บริษัทมุ่งเน้นไปที่สินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันที่มีขนาดเล็กกว่า (ต่ำกว่า 10 ล้านบาท) แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่าความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ในกลุ่มดังกล่าวที่มีค่อนข้างมากนี้ถือเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิต

ฐานเงินทุนและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการกำไรที่มีอย่างต่อเนื่องของบริษัทจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ระดับ 43.3% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 13.0% ณ เดือนมีนาคม 2562 จากการที่บริษัทแม่เพิ่มทุนให้จำนวนประมาณ 5.9 พันล้านบาทในปี 2562 โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ระดับประมาณ 40% นั้นบ่งบอกถึงการมีสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งมากตามเกณฑ์ของทริสเรทติ้ง

นอกเหนือจากฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งแล้ว ความสามารถในการสร้างผลกำไรก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทจะทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 6.0% แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจส่งแรงกดดันต่อรายได้ของบริษัทอยู่บ้างโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เข้มแข็งของบริษัทซึ่งเกิดจากอัตราผลตอบแทนที่คงที่และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง รวมทั้งจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น

ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวลดลงจากการที่บริษัทเปลี่ยนมาทำการจัดเก็บหนี้เองซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้จากเดิมที่บริษัทจ้างให้บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 ดำเนินการแทน ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้วอยู่ที่ระดับ 7.0% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.0% ในปี 2563 โดยส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากสินทรัพย์ทางการเงินที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ทั้งนี้ การปรับตัวที่ดีขึ้นของอัตราส่วนดังกล่าวยังเป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงเนื่องจากบริษัทได้ชำระคืนหนี้ให้ SAWAD หลังจากที่บริษัทแม่ได้ทำการเพิ่มทุนให้แก่บริษัทแล้ว

คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอาจถดถอยลงซึ่งเป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นแต่จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 7% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าโดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่บริษัทปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เช่น อัตราส่วนมูลหนี้ต่อมูลค่าหลักประกันที่ต่ำลงเพื่อควบคุมผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.3% จาก 5.6% ในปี 2562 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม

นอกจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ก็มีสาเหตุหลักมาจากปัจจัย 2 ประการคือ ประการแรก การเริ่มใช้ TFRS 9 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดชั้นสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตโดยใช้เกณฑ์ตามรายลูกค้าจากเดิมที่จัดตามรายสัญญา ส่งผลให้เมื่อลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ในสัญญาใดสัญญาหนึ่งก็จะมีการนับการผิดนัดชำระสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตร่วมกัน ประการที่สอง มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ยังกำหนดว่าการที่จะตัดหนี้สูญออกจากบัญชีได้นั้นจะต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ว่าสินเชื่อดังกล่าวจะไม่ได้รับการชำระคืนหนี้แล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตถูกตัดออกจากบัญชีได้ช้าลงเมื่อเทียบกับมาตรฐานบัญชีฉบับเดิม ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจส่งผลกดดันต่อสถานะความเสี่ยงของบริษัทในระยะปานกลาง

การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในไตรมาสแรกของปี 2563 ยังส่งผลให้อัตราส่วนความครอบคลุมของค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56.3% ณ เดือนมีนาคม 2563 จากระดับ 67.1% ในปี 2562 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ในระดับประมาณ 50%-70% ได้ตามแนวทางการบริหารงานของกลุ่ม

มีความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนอยู่ในระดับปานกลางและมีสภาพคล่องที่เพียงพอ บริษัทมีความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนอยู่ในระดับปานกลางจากการมีฐานเงินฝากขนาดเล็ก โดยฐานเงินฝากส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากลูกค้าที่มีความมั่งคั่งเมื่อพิจารณาจากสถานะที่บริษัทเป็นบริษัทเงินทุนที่ไม่มีเครือข่ายสาขา ณ เดือนมีนาคม 2563 กว่า 90% ของเงินฝากรวมของบริษัทเป็นเงินฝากที่มีระยะเวลา โดยเงินฝากที่มีระยะเวลาซึ่งมีต้นทุนทางการเงินสูงดังกล่าวทำให้บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะพึ่งพาเงินกู้ยืมจาก SAWAD ซึ่งเป็นบริษัทแม่เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนหลักสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อมากกว่า

ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราส่วนเงินฝากรวมต่อเงินทุนรวมของบริษัทที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 81.7% ณ เดือนมีนาคม 2563 จากระดับ 46.0% ณ เดือนมีนาคม 2562 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการลดลงของเงินกู้ยืมจากการที่บริษัทมีการชำระคืนหนี้แก่ SAWAD หลังจากที่ได้รับเงินเพิ่มทุนมาแล้ว

บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอจากการที่บริษัทมีวงเงินสินเชื่อส่วนใหญ่มาจาก SAWAD ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนสถานะสภาพคล่องของบริษัทได้ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมดจำนวน 1.7 พันล้านบาท โดย 88% ของวงเงินดังกล่าวมาจาก SAWAD และส่วนที่เหลือมาจากสถาบันการเงินหนึ่งแห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีช่องทางในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมจากความสามารถในการรับเงินฝากของบริษัทเองอีกด้วย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรงอยู่ที่ระดับ 291% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ระดับ 100%

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับผลการดำเนินงานบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 มีดังนี้

-ยอดสินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับ 11%-16%

-ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 15%

-อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมจะคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 7%

-อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 50%-60%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาสถานะในการเป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักของ SAWAD และจะยังคงได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากบริษัทแม่อย่างต่อเนื่องต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามสถานะเครดิตของ SAWAD จากการที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม ในการนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับการสนับสนุนที่บริษัทได้รับจากกลุ่มนั้นลดน้อยถอยลง หรือหากสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มศรีสวัสดิ์เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับบริษัทย่อยอื่น ๆ ของกลุ่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ