ดัชนีกลุ่มแบงก์ร่วง 2.33% หวั่นธปท.ให้ลดดบ.เพิ่มช่วยลูกหนี้กระทบกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 18, 2020 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีกลุ่มแบงก์ร่วง 2.33% มาอยู่ที่ 306.63 จุด ลดลง 7.32 จุด เมื่อเวลา 14.47 น.นำโดยหุ้น KKP ร่วง 5.24% มาอยู่ที่ 45.25 บาท ลดลง 2.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 494.48 ล้านบาท

หุ้น TISCO ลบ 4.47% มาอยู่ที่ 74.75 บาท ลดลง 3.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 693.34 ล้านบาท

หุ้น TCAP ลบ 3.77% มาอยู่ที่ 38.25 บาท ลดลง 1.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 240.29 ล้านบาท

ขณะที่เมื่อเวลา 14.52 น.หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์นำดิ่งโดย หุ้น AEONTS ลบ 2.75% มาอยู๋ที่ 124 บาท ลดลง 3.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 108.64 ล้านบาท

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฟส 2 จากผลกระทบโควิด-19 ในรูปแบบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากเดิม ซึ่งเสี่ยงกดดันกำไรของกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ให้ปรับตัวลดลง และส่งผลให้มีแรงขายออกมาจำนวนมาก

ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางช่วยเหลือครั้งนี้จะอยู่ในรูปแบบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต ให้ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยมาที่ 16% จากเดิม 18%, สินเชื่อบุคคล (P-loan) ลดลง 2% - 4% จากเดิม, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในกลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ให้พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1% หรือคิดเป็น EIR ลดลง 2% จากเดิม และ สินเชื่อบ้าน อยู่ในแนวทางขยายระยะเวลาชำระหนี้, การพักชำระเงินต้น 3 เดือน และลดดอกเบี้ยตามความเหมาะสม

โดยคาดว่าหากเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยคาดว่า NIM กลุ่มธนาคาร ที่คาดไว้ 2.79% สาเหตุจากการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective interest rate) แต่ละสัญญาเงินกู้ต่ำลง ทั้งจากการขยายระยะเวลาชำระหนี้และปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งผลกระทบที่แน่ชัดขึ้นอยู่กับจำนวนลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการเฟส 2 โดยทุก 10 bps ของ NIM ที่ลดลงจะส่งผลต่อกำไรกลุ่มฯ ปี 2563 ประมาณ 5% จากที่คาดไว้ 1.47 แสนล้านบาท โดยกระทบเกิดขึ้นกับ กลุ่มธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยสูง เช่น

บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) (สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 79% ของพอร์ตสินเชื่อ และเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ราว 56% ของพอร์ต) ตามด้วย ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) (สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 61% ของพอร์ตสินเชื่อ เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ราว 45% ของพอร์ต), ธนาคารทหารไทย (TMB) (สินเชื่อรายย่อย 56%), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) (สัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 49% เป็นสินเช่าซื้อรถยนต์ 23%, บัตรเครดิตและอื่นๆ ราว 11%), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) (สินเชื่อรายย่อยราว 48% หลักๆ เป็นสินเชื่อบ้านราว 31% ของพอร์ตสินเชื่อรวม)

สำหรับกลุ่มเช่าซื้อฝ่ายวิจัยประเมินว่าบมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) จะได้รับผลกระทบจากการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต (39% ของสินเชื่อรวม) ซึ่งปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยที่ราว 20% (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต) โดยหาก AEONTS ปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตทุกๆ 1% จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ราว 3.8% จากปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดสินเชื่อบัตรกดเงินสด (50% ของสินเชื่อรวม) จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ราว 26% ใกล้เคียงคาดการณ์เพดานดอกเบี้ยใหม่อยู่แล้ว

ขณะที่บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) และบมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ปัจจุบันคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าที่ราว 21-22% ต่ำกว่าคาดการณ์เพดานสินเชื่อใหม่ที่ 24% อยู่แล้ว จึงคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด ส่วนกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก ทั้งบมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) และบมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้าเฉลี่ยราว 7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ฝ่ายวิจัยจึงประเมินว่าเป็นไปได้ยากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ผู้บริการเช่าซื้อรถบรรทุกปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากปัจจุบัน

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ทำ sensitivity หาก AEONTS (FV@B125) SAWAD (FV@B54) และ MTC(FV@B53) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าทุกๆ 1% จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ราว 3-9% ทั้งนี้ ราคาหุ้นกลุ่มเช่าซื้อส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจนเต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว อีกทั้งยังได้รับ sentiment เชิงลบจากมาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน


แท็ก ธปท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ