STGT ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 57.50 บาท สูงกว่าราคาขาย IPO 69.12%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 2, 2020 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น STGT ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 57.50 บาท เพิ่มขึ้น 23.50 บาท (+69.12%) จากราคาขาย IPO ที่ 34 บาท/หุ้น ด้วยมูลค่าซื้อขาย 11,737.5 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 55.25 บาท ราคาขึ้นสูงสุด 60.25 บาท ราคาทำระดับต่ำสุด 55.25 บาท

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯประเมินราคาหุ้นบมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ด้วยวิธี PE Ratio ได้ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 47.00 บาท เทียบเท่า 2563 PER ที่ 23.9x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 42.4x ขณะที่ STGT มี ROE ที่ 25.5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 18.4% โดยประเมินกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 2,814 ล้านบาท (+344% YoY) จากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยประเมินว่า utilization rate จะเพิ่มขึ้นเป็น 95% ในปี 2563 จาก 89% ในปี 2562

STGT เป็นบริษัทผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นอันดับ 3 ของโลก ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตถุงมือยาง 32,619 ล้านชิ้น/ปี (+20% YoY) คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ที่ 40.7% ในช่วงปี 2560-ไตรมาส 1/63 นอกจากนี้บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านชิ้น/ปี และ 100,000 ล้านชิ้น/ปี ภายในปี 2575

นอกจากนี้ STGT ยังมีข้อได้เปรียบคู่แข่งขันด้านต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบจากทำเลที่ตั้งโรงงานที่อยู่ใกล้กับโรงงานผลิตน้ำยางข้น อีกทั้ง STGT มีแผนขยายตลาดไปยังประเทศเกิดใหม่ที่มีความต้องการใช้ถุงมือยางธรรมชาติเป็นหลักซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่จะเป็นผู้นำการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ STGT เปิดเผยว่า ราคาหุ้น STGT เปิดซื้อขายในวันแรกสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก แม้ว่าราคาจะ IPO จะมี P/E จะอยู่ที่ 54 เท่า มองว่าน่าจะเป็นเพราะบริษัทจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 40% ตามยอดผลิตและจำหน่ายที่ 28,000 ล้านชิ้น รวมไปถึงมีการปรับราคาขายเพิ่มขึ้นไตรมาสละ 10-15% ตั้งแต่ไตรมาส 2/63-ไตรมาส 4/63 ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมียอดขายล่วงหน้ารอส่งมอบไปถึงช่วงไตรมาส 3/64 แล้ว

สำหรับแผนการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้ในแผนขยายกำลังการผลิตถุงมือยางในระยะยาว 12 ปี โดยในปี 67 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านชิ้น ,ในปี 71 เพิ่มเป็น 7 หมื่นล้านชิ้น และเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านชิ้นภายในปี 75 เบื้องต้นตามแผนขยายกำลังการผลิตดังกล่าวต้องใช้ลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และนำเงินบางส่วนไปลงทุนในระบบ SAP เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการทำงานและฐานข้อมูลของบริษัทเป็นหนึ่งเดียวกันรายงานข้อมูลแบบ Real Time

ประกอบกับ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาบริษัทขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40% ทุกปีส่วนหนึ่งใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ดังนั้นเงินจาก IPO ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงมาต่ำกว่า 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่มากกว่า 1 เท่า ช่วยเสริมสถานะทางการเงินบริษัทมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

"ยอมรับว่าราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามเรามองทิศทางผลประกอบการยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังบริษัทมีการขยายกำลังการผลิตต่อปีที่เฉลี่ย 13% ในช่วง 12 ปีต่อจากนี้ ซึ่งบริษัทมองว่าหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะส่งผลให้ความค้องการใช้ถุงมือยางในกลุ่มใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น อาทิ ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจให้บริการด้านต่างๆ และธุรกิจค้าปลีก ที่จะช่วยให้ความต้องการใช้ถุงมือยางมีการเติบโตตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น"นางสาวจริญญา กล่าว

ทั้งนี้ STGT เสนอขายหุ้น IPO จำนวนทั้งสิ้น 438,780,000 หุ้น หรือคิดเป็น 30.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ ที่ราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้นละ 34 บาท

ส่วนภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% และมีกำไรสุทธิ 613.91 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ๆ และการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 มีรายได้รวม 3,873.28 ล้านบาท เติบโต 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 421.89 ล้านบาท เติบโต 184.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นางสาวจริญญา กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายรักษาการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก โดยเน้นเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางธรรมชาติและรักษาสัดส่วนผลิตถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้น้ำยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบที่เหมาะสม นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ภายในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต โดยจะยึดถือการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ‘Touch of Life’ เพราะทุกสัมผัสนั้นมีความหมายต่อชีวิต และวิชั่นองค์กรที่ต้องการส่งมอบการปกป้องทุกสัมผัสด้วยความห่วงใย สู่ทุกชีวิตทั่วโลก

ภาพรวมความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนจากการประเมินความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกในปี 62 โดยสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (MARGMA) อยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ย 12.2% ต่อปี นับจากปี 59 ที่มีความต้องการใช้ 212,000 ล้านชิ้น จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทางการแพทย์และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ แสดงถึงศักยภาพการเติบโตที่ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ