"เอ็นอาร์ อินสแตนท์ฯ"พร้อมขายหุ้น IPO ทั้ง 340 ล้านหุ้นในปีนี้ รุกขยายตลาด Specialty Food

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 8, 2020 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินบมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) กล่าวว่า NRF คาดว่าจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 340 ล้านหุ้น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ NRF ภายในปีนี้ หลังจากแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว

หลังจากนี้บริษัทจะเตรียมความพร้อมในการเดินสายให้ข้อมูลกับนักลงทุน (โรดโชว์) เนื่องจากบริษัทจะจัดสรรหุ้น IPO เสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยทั้งหมด เพื่อระดมทุนไปใช้ในการลงทุนโครงการที่เข้ามาต่อยอดธุรกิจในอนาคต การลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ ชำระเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริการ NRF เปิดเผยว่า บริษัทได้วางกลยุทธ์เจาะตลาดอาหารกลุ่ม Specialty Food ซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยมทั่วโลก และมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มการบริโภคอาหารแห่งอนาคตเป็น Megatrend ทั่วโลก โดยใช้กระบวนการผลิตจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญต่ออาหารสุขภาพ คำนึงถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นอาหารทานสะดวก ซึ่งจะเป็นการสร้าง New S CURVE ใหม่ต่อยอดการเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์อาหาร Speciality Food ที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นพิเศษมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอาหาร Ethnic Food หรือเทรนด์การหันมานิยมบริโภคอาหารต่างชาติโดยดัดแปลงผสมผสานกับอาหารท้องถิ่น จากแนวโน้มการรักษาสุขภาพ การทดลองอาหารที่มีรสชาติจัดจ้านมากขึ้นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงการย้ายถิ่นฐานที่มากขึ้นทั่วโลก คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตแบบถัวเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 10 ไปในหลายปีข้างหน้า

2. กลุ่มอาหาร Plant-Based Food หรือ อาหารโปรตีนจากพืช ผลิตจากพืชตระกูลถั่ว เห็ด และสาหร่าย ทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งได้รับความนิยมในการบริโภคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสผู้บริโภคที่ใส่ใจการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อดูแลสุขภาพและให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีโรคระบาดในปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น โดยยังคงได้รับรสชาติและผิวสัมผัสเหมือนเนื้อแต่ได้รับสารอาหารจากพืช ทำให้มีผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชหลากหลายรูปแบบถูกพัฒนาและนำออกมาจำหน่ายในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและเป็นอนาคตของธุรกิจอาหาร

และ 3. ผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape)

นอกจากนั้น บริษัทยังมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภค (Functional product) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ให้ความสะดวกสบายเหมาะกับผู้บริโภคทุกวัย รวมถึงผู้ป่วยและผู้พิการ กับผู้ให้บริการด้านเครื่องจักรและนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ V-shape สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง ยา เวชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ ในตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท 6 แบรนด์ ได้แก่ พ่อขวัญ, Lee Brand, Thai Delight, Shanggie, DeDe และ Sabzu รวมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต (OEM และ Private Brand) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช โดยนำโปรตีนจากพืชมาผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารมังสวิรัติ มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 500 สูตรอาหาร รวมทั้งสิ้นมากกว่า 2,000 SKU จำหน่ายใน 25 ประเทศทั่วโลก

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัททั้งหมดมาจากรายได้จากการส่งออก เพราะยังไม่มีสินค้าของบริษัทที่ขายอยู่ในประเทศไทย แต่บริษัทเตรียมที่จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในประเทศไทยในเร็วนี้

โรงงานผลิตของบริษัทมีอยู่ 4 แห่ง คือ โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร ใช้กำลังการผลิตไปแล้ว 80% โรงงานในจังหวัดนครปฐมและราชบุรี ซึ่งเป็น 2 แห่งใหม่ที่บริษัทได้ลงทุน เพื่อขยายกำลังการผลิตจากโรงงานที่สมุทรสาครเพิ่มขึ้นอีก 40% รวมทั้งมีโรงงานแห่งใหม่ล่าสุดในประเทศอังกฤษ ซึ่งไช้เงินลงทุน 400 ล้านบาทในการเข้าซื้อในปี 62 โดยเป็น 1 ใน 10 โรงงานที่ใหญ่ที่สุดของผู้ผลิตไส้กรอกอังกฤษ เพื่อต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์จากไส้กรอก

ยอดขายในปี 62 ที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 6-7% และจากภาพรวมของธุรกิจอาหารที่มีการเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Speciality Food ซึ่งมีการเติบโตอย่างมาก จากเทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ทำให้กลุ่มสินค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่บริษัทเน้นมากขึ้นจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนให้แนวโน้มยอดขายในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้อีก ผนวกกับจุดแข็งด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายสินค้า รวมถึงมุ่งสร้างตราสินค้าและสร้างชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผ่านการออกงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มทั้งในและต่างประเทศ พร้อมขยายตลาดส่งออกใหม่ๆเพิ่มขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้ยอดขายของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บริษัทยังมีการลงทุนใน Big Idea Venture LLC หรือ Big Idea Venture และ New Protien Fund I มูลค่ากองทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อายุกองทุน 4 ปี ซึ่งเน้นลงทุนและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอาหารโปรตีนจากพืช เพื่อเข้าถึงและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก เพื่อนำประสบการณ์มาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมถึงมีโอกาสได้ลูกค้าหรือพันธมิตรรายใหม่จาก Plant-based Startup-ecosystem โดยบริษัทมีการใส่เงินลงทุนไปแล้ว 20% ของเงินลงทุนทั้งหมด 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบริษัทเป็นผู้บริหารกองทุนดังกล่าว

บริษัทมีเป้าหมายลงทุนในสตาร์ทอัพให้ถึง 100 รายภายในระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งในปี 62 ได้เข้าลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้ว 19 ราย และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้เข้าลงทุนเพิ่มไปอีก 12 ราย จากเป้าหมายปีนี้ 40 ราย โดยยังคงมองหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเพื่อเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เงินลงทุนของกองทุนเฉลี่ย 200,000-300,000 ดอลาร์สหรัฐฯ/ปีเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพใหม่ๆ

"การเสนอขาย IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทในครั้งนี้เพื่อเป็นการนำเงินมาต่อยอดธุรกิจไปสู่ New S curve ใหม่ที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัท หลังจากที่เราใช้เวลา 3 ปีในการเปลี่ยนแปลงบริษัทมาเป็นบริษัทมหาชน เราเตรียมเดินหน้าทำในสิ่งที่เราอยากเห็นผลและสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทในอนาคต"นายแดน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ