โบรกฯเชียร์"ซื้อ" SCC คาดกำไร Q2/63 โตตามมาร์จิ้นปิโตรฯ-บรรจุภัณฑ์แกร่ง,ลุ้นส่ง SCGP เข้าตลาดหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 15, 2020 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์เชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) หลังมองกำไรสุทธิไตรมาส 2/63 เติบโตจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงทำให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวลงด้วย ผลักดันให้ส่วนต่าง(สเปรด) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงขึ้น ขณะที่ผลประกอบการธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังแข็งแกร่ง

ตลอดจนยังมีปัจจัยเร่งสำคัญคือการนำ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ซึ่งจะทำให้ช่วยปลดล็อกมูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนขึ้น

ขณะเดียวกันธุรกิจปูนซีเมนต์ คาดว่าจะเติบโตตามการก่อสร้างโครงการภาครัฐ หลังมีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 และในช่วงไตรมาส 2/63 ยังนี้ไม่มีวันหยุดเทศกาลสงกรานต์เหมือนกับปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการปูนซีเมนต์ยังคงมีต่อเนื่อง

หุ้น SCC พักเที่ยงอยู่ที่ 386 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท หรือ 0.52% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.68%

          โบรกเกอร์                        คำแนะนำ                    ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ไทยพาณิชย์                          ซื้อ                              430.00
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง                     ซื้อ                              400.00
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ                    ซื้อ                              417.00
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)                ทยอยซื้อ                            400.00
          หยวนต้า (ประเทศไทย)             ซื้อเก็งกำไร                          395.00
          ทิสโก้                              ซื้อ                              426.00

นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของ SCC คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 9.1 พันล้านบาท ขยายตัว 30-31% ทั้งจากไตรมาส 1/63 และจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ท่ามกลางผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์, สินค้าฟุ่มเฟือย, สินค้าคงทน เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวสามารถชดเชยได้ด้วยการกระจาย Portfolio ที่หลากหลาย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค, Hygiene, อุตสาหกรรมการแพทย์, E-commerce ที่มีความต้องการใช้สูงขึ้น

"กำไรที่ออกมาดีมาจากบริษัทได้มีการกระจายกลุ่มลูกค้าที่มีธุรกิจที่หลากหลาย แม้บางธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็มีหลายธุรกิจที่มีดีมานด์เข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงนี้" นักวิเคราะห์บล.หยวนต้าฯ กล่าว

นักวิเคราะห์ กล่าวอีกว่า ด้านธุรกิจปิโตรเคมี ได้รับผลบวกจากส่วนต่างราคาปิโตรเคมีปรับสูงขึ้น จากต้นทุนวัตถุดิบแนฟทาลดลงตามราคาน้ำมัน และการเลื่อนแผนปิดซ่อมบำรุงโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) จากไตรมาส 2/63 ไปไตรมาส 4/63 ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นจากสต็อกสินค้าที่สะสมไว้เพื่อรองรับแผนปิดซ่อมบำรุงเดิมด้วย

นอกจากนี้ การก่อสร้างภาครัฐที่ยังเดินหน้าต่อตามการเบิกจ่ายงบประมาณ และในไตรมาส 2/63 ไม่มีวันหยุดเทศกาลสงกรานต์เหมือนปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างแข็งแกร่งจากอุปกรณ์ Renovate บ้าน และยอดขายอสังหาริมทรัพย์แนวราบที่โดดเด่น

อีกทั้งยังมี Catalyst จากการนำ SCGP เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกมูลค่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างกำหนดราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และเข้าซื้อขายใน SET ถ้าเป็นไปตามกระบวนการ คาดว่าจะสามารถ IPO ภายใน 12 เดือนนับจาก 29 พ.ค.63 อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมจากการประเมินสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ ภาวะตลาดทุน และความเชื่อมั่นนักลงทุน

ด้านบทวิเคราะห์บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 ของ SCC ที่จะประกาศออกมาในวันที่ 29 ก.ค.นี้ คาดจะมีกำไรที่ฟื้นตัวดีขึ้นเป็น 9.25 พันล้านบาท เติบโต 33% จากไตรมาสก่อน และ 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากแรงหนุนการฟื้นตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ที่มีสเปรดผลิตภัณฑ์ HDPE-แนฟทา อยู่ที่ 491 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 1/63 ราว 91 เหรียญสหรัฐ/ตัน และสเปรด PP-แนฟทา ที่ 606 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 55 เหรียญสหรัฐ/ตันจากไตรมาสก่อน และปริมาณขายที่คาดจะสูงขึ้นเป็น 475,000 ตัน เติบโต 13% จากไตรมาสก่อน แต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการที่ยังดีและจีนกลับมาสั่งซื้อมากขึ้น

สำหรับธุรกิจปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบภาคการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยและพาณิชย์ แต่การก่อสร้างของภาครัฐบาลยังเติบโต จากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 และเดือนเม.ย. ปีนี้ไม่ได้หยุดยาวเช่นปีก่อน ทำให้ภาพรวมความต้องการปูนซีเมนต์ไตรมาส 2/63 จะทรงตัวได้ ขณะที่ความสามารถทำกำไรยังทำได้ดี จาก SCC ขายสินค้าพร้อมบริการ และโซลูซั่นที่มีเครือข่ายเอเย่นต์ที่แข็งแกร่ง ขณะที่โมเดิร์นเทรดอื่นปิดสาขาชั่วคราวช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้คาดว่ากำไรปกติของธุรกิจปูนซีเมนต์จะเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาที่ระดับ 2.29 พันล้านบาท

ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์คาดจะเติบโตได้บ้าง จากความต้องการผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการบริโภคที่เติบโตได้ดีในช่วงที่โควิด-19 ระบาด แม้ว่าผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์สินค้าคงทนจะหดตัว โดยความสามารถทำกำไรยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากแหล่งวัตถุดิบเศษกระดาษในประเทศต้นทุนต่ำ มีเครือข่ายรับซื้อเศษกระดาษทั่วอาเซียน ให้บริการโซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร คาดกำไรปกติของธุรกิจจะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนสู่ระดับ 1.79 พันล้านบาท

ทั้งนี้ แนวโน้มผลประกอบการโดยรวมของ SCC ในช่วงครึ่งหลังปีนี้คาดจะชะลอตัวลงจากไตรมาส 2/63 จากสเปรดปิโตรเคมีเริ่มชะลอตัวลดลง และในไตรมาส 4/63 จะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานปิโตรเคมี MOC 45 วัน อย่างไรก็ดีเปลี่ยนไปใช้ราคาเป้าหมายปี 64 บนฐาน Forward P/E ที่ 13.9 เท่า ได้เท่ากับ 400 บาท เพิ่มจากเดิม 380 บาท แนะนำซื้อช่วงอ่อนตัว หลังราคาหุ้นปรับขึ้นราว 43% จากจุดต่ำสุดเดือนมี.ค.

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดผลการดำเนินงานของ SCC ในไตรมาส 2/63 มีกำไรสุทธิ 9 พันล้านบาท เติบโต 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 29% จากไตรมาส 1/63 โดยมีปัจจัยหนุนคือมาร์จิ้นปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม และผลประกอบการธุรกิจบรรจุภัณฑ์แข็งแกร่ง โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่ไม่รวมไทย อีกทั้งยังมีกำไรจากสต็อกปิโตรเคมี โดยประเมินไว้ที่ 434 ล้านบาท จากไตรมาส 1/63 ที่ขาดทุนสต็อก 1.11 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี แนะนำ "ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมายทางพื้นฐาน 417 บาท โดยใช้วิธี Sum-of-parts สำหรับปัจจัยที่จะเป็น Catalyst คือการนำบริษัทย่อย SCGP จดทะเบียนใน SET และการฟื้นตัวของอุปสงค์ซีเมนต์เมื่อผ่อนคลายล็อกดาวน์ ทั้งในประเทศและ CLMV รวมถึงการขยายตัวที่ดีของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน มองว่าปัจจุบันมี Valuation ไม่แพง โดยประเมิน P/E ปีนี้ 13 เท่า ต่ำกว่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 15 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ