SAWAD, MTC, KTC, AEONTS ราคาไหลลง กังวลธปท.ลดเพดานดบ.บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลเป็นการถาวร

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 5, 2020 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น SAWAD, MTC, KTC, AEONTS ราคาไหลลง โดยเมื่อเวลา 10.08 น. หุ้น SAWAD ลบ 3.54% มาอยู่ที่ 47.75 ล้านบาท ลดลง 1.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 224.81 ล้านบาท

หุ้น MTC ลบ 2.93% มาอยู่ที่ 49.75 บาท ลดลง 1.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 137.32 ล้านบาท

หุ้น KTC ลบ 1.61% มาอยู่ที่ 30.50 บาท ลดลง 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 36.26 ล้านบาท

หุ้น AEONTS ลบ 1.44% มาอยู่ที่ 102.50 บาท ลดลง 1.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 7.85 ล้านบาท

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต (เดิม 18% เหลือ 16%) สินเชื่อบุคคล (เดิม 28% เหลือ 25%) และสินเชื่อจำนำทะเบียน (เดิม 28% เหลือ 24%) ตั้งแต่ 1 ส.ค. 63 เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น แต่ต่อมามีรายงานข่าวว่าธปท.ยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการถาวร ไม่ใช่มาตรการชั่วคราว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS และบมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เป็นหลัก เพราะเดิมคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลสูงกว่าเพดานใหม่ ซึ่งฝ่ายวิจัยได้รวมผลกระทบดังกล่าวไว้ในประมาณการของ AEONTS แล้ว

ขณะที่ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) และบมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) จะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากปัจจุบันส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกหนี้ต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ยใหม่อยู่แล้ว มีเพียง SAWAD ที่คิดอัตราดอกเบี้ยของรถยนต์บางประเภท ที่ไม่ได้เป็นที่นิยมของตลาดในอัตราที่สูงกว่าปกติที่ระดับ 26% อยู่บ้าง แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของสินเชื่อสุทธิ และจากการสอบถามไปที่ SAWAD อาจเลือกที่จะปล่อยสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวลดลง เพราะได้ดอกเบี้ยที่ไม่คุ้มความเสี่ยง

นอกจากนี้ เพดานอัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลเฉพาะสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยหลังจากวันที่ 1 ส.ค.63 เป็นต้นไป ไม่กระทบต่อสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วในปัจจุบัน จึงคาดกระทบ SAWAD ไม่มาก โดยรวมแล้ว ฝ่ายวิจัยยังให้น้ำหนักความเสี่ยงเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จึงยังแนะนำ Switch ทั้ง AEONTS (เป้า 110 บาท) MTC (เป้า 53 บาท) และ SAWAD (เป้า 54 บาท)

ขณะที่ประเด็นที่ธปท. จะปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียมทวงหนี้และค่าติดตามของธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างหารือกับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย โดยในเบื้องต้น ธปท. เคาะค่าโทรคิด 100 บาท/ครั้ง และค่าลงพื้นที่คิด 500 บาท/ครั้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าเป็น sentiment เชิงลบต่อกลุ่มเช่าซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเช่าซื้อรถบรรทุก ซึ่งจากการสอบถามไปทาง บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ยังต้องติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะค่าทวงถามแต่ละประเภทมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากัน เช่น การติดตามทวงถามสินเชื่อรถบรรทุกจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตามและทวงถามสูงกว่าสินเชื่อเช่าซื้อประเภทอื่นมาก เป็นต้น ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยแนะนำซื้อ บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) (เป้า 21 บาท) จาก Valuation ที่น่าสนใจ โดยมีค่า PER ต่ำเพียง 8 เท่า และสามารถคาดหวัง Div Yield ได้กว่า 8% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ