GCAP เผยรายได้-กำไรQ2/63 ลดลงสะท้อนวิกฤติโควิด หันปรับแผน-คุมคชจ.-คุม NPL ไม่เกิน 5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 7, 2020 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสเปญ จริงเข้าใจ กรรมการและผู้จัดการ บมจ. จี แคปปิตอล (GCAP) กล่าวว่า งบการเงินเฉพาะกิจการในไตรมาส 2/63 บริษัทมีรายได้รวม 84.16 ล้านบาท ลดลง 5.74 ล้านบาท หรือลดลง 6.4% ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้สิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน 4.38 ล้านบาท เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อลดลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ในส่วนของกำไรสุทธิมีจำนวน 7.71 ล้านบาท ลดลง 14.85 ล้านบาท หรือลดลง 65.8% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 8.58 ล้านบาท และขาดทุนจากการด้อยค่าลดลง 3.81 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 8.08 ล้านบาท

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นเกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มยอดการปล่อยสินเชื่อ เช่น ค่าส่งเสริมการตลาด ค่าบุคลากร ค่าที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย โดยในปีนี้บริษัทได้นำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) และฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า (TFRS 16) มาปฏิบัติให้เป็นมาตรฐาน

นายสเปญ กล่าวอีกว่า เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพธุรกิจการปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ จึงต้องพิจารณาในงบการเงินเฉพาะกิจการ เนื่องจากในงบรวมไตรมาสนี้ มีการบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมค้าที่ยังไม่ดำเนินธุรกิจใดๆ เข้ามาแสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในงบรวมเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ "สบายใจมันนี่" ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท 9F International Holding PTE. LTD ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์แรก "สบายใจบิวตี้" ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมเนื่องจากได้รับผลจากการล็อคดาวน์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะพันธมิตรของบริษัทอยู่ประเทศจีนไม่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้อย่างปกติ แต่บริษัทฯยังมีความมั่นใจในความพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจการปล่อยสินเชื่อให้สอดรับกับโลกยุคดิจิทัล และคาดจะเห็นความชัดเจนในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

"ช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทำให้ส่งผลกระทบต่อยอดการจัดเก็บค่างวดบางส่วน ในช่วงล็อคดาวน์ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ถึงกลางเดือน มิ.ย.บริษัท จึงมีการปรับโครงสร้างการทำงานในส่วนของการบริหารจัดเก็บหนี้ และเปลี่ยนแปลงกระบวนการการทำงาน โดยบริษัทได้มีการทดลองและประเมินผลในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในการบริหารจัดเก็บหนี้ โดยนำ AI และ DATA มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการพักชำระหนี้ที่จะหมดลงในเดือนตุลาคมนี้" นายสเปญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทฯ ได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจและสถานการณ์ ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว อีกทั้ง บริษัทได้มีแผนการปรับลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของบริษัท และมีนโยบายควบคุมตัวเลขหนี้ ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้ไว้ไม่เกิน 5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ