CGD เชื่อทั้งปีพลิกเป็นกำไรแม้ H1/63 ยังขาดทุน รับแรงหนุนโอนคอนโดฯ-เปิด 2 โรงแรม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 8, 2020 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเบน เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คัทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเม้นท์ (CGD) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 63 คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรรับปัจจัยหนุนจากการโอนคอนโดมิเนียมโฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้กับลูกค้า โดยที่ปัจจุบันมีลูกค้าที่ซื้อห้องพักในคอนโดมิเนียมดังกล่าวแล้ว 70% จากมูลค่าโครงการคอนโดมิเนียม 2.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนครบทั้งหมดไปถึงต้นปี 64

สำหรับมูลค่าห้องที่เหลือที่ยังไม่เปิดขายอีก 7 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นห้องของผังอาคารในทำเลพรีเมียมมีประเภทห้องที่หลากหลายตั้งแต่ 1-5 ห้องนอน และห้องเพนท์เฮาส์ ซึ่งคาดว่ายังมีความต้องการซื้อของลูกค้าเข้ามาเพิ่มขึ้นเมื่อห้องที่ยังไม่เปิดขายตกแต่งแล้วเสร็จ และสามารถผลักดันราคาขายเพิ่มขึ้นไปแตะ 320,000 บาท/ตารางเมตร จากราคาขายเฉลี่ยของโครงการในปัจจุบันที่ 300,000 บาท/ตารางเมตร ขณะที่ราคาขายช่วงเปิดตัว 270,000 บาท/ตารางเมตร

ขณะเดียวกัน บริษัทคาดว่าหลังจากที่รับรู้รายได้จาก Backlog ในส่วนที่ลูกค้าซื้อ 70% ไปครบทั้งหมดแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท จะนำเงินดังกล่าวไปชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินที่ใช้ก่อสร้างโครงการดังกล่าว 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของบริษัทลดลง และหนี้สินลดลงจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 3 หมื่นล้านบาท

"ถึงแม้จะเผชิญสถานการณ์โควิด-19 บริษัทฯสามารถดำเนินการโอนได้ตามแผน มียอดโอนไปมากกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะนี้มี Backlog ที่พร้อมจะรอโอนและรับรู้รายได้ได้ทันทีอีกกว่า 12,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการคืนหนี้ค่าก่อสร้างทั้งหมดของโครงการเจ้าพระยาเอสเตททั้งหมดจำนวน 11,000 ล้านบาท สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ คอนโดโฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีมูลค่าขายโครงการประมาณ 21,000 ล้านบาท " นายเบน กล่าว

นอกจากนี้ในส่วนของโรงแรมทั้ง 2 ได้เตรียมเปิดในช่วงไตรมาส 4/63 ซึ่งจะเข้ามาเสริมรายได้ให้กับบริษัทในช่วงปลายปีนี้ โดยความคืบหน้าของโรงแรมทั้งสองแห่งของโครงการเจ้าพระยาเอสเตท ได้แก่ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เริ่มเปิดให้บริการในส่วนของการจัดงานเลี้ยงขนาดใหญ่ รวมถึงการประชุมกรุ๊ปไพรเวท ตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการให้การตอบรับเป็นอย่างดี

แม้ว่าทั้งสองโรงแรมยังไม่เปิดให้บริการ แต่มีลูกค้าเข้ามาจองจัดงานเลี้ยงล่วงหน้าแล้วประมาณ 50 งาน ซึ่งสามารถช่วยเข้ามาสนับสนุนรายได้ของทั้งสองโรงแรมได้ แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนจะกลับมาได้อย่างแน่นอนในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะเตรียมตัวเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวในส่วนของสำหรับโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดให้บริการในเดือนต.ค.นี้ เป็นห้องพักในรูปแบบวิลล่าและห้องสวีทรวมทั้งสิ้น 101 ห้อง ปัจจุบันมียอดจองห้องพักแล้ว (Booking) แล้วประมาณ 5% ส่วนโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโรงแรมลักซ์ชูรีริมเจ้าพระยาแห่งใหม่ รีสอร์ทใจกลางมืองแบบโลว์ไรซ์ จำนวน 299 ห้อง เตรียมเปิดให้บริการในเดือน พ.ย.63 พร้อมทั้งให้บริการร้านอาหารภายในโรงแรม

"โครงการนี้ก่อสร้างมา 10 ปี เป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร แต่เป็นโครงการสำคัญของธุรกิจอสังหาฯและภาคท่องเที่ยวของไทย ที่จะเป็นจุดเด่นให้กับโครงการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และถือเป็นโครงการโฟรซีซันส์ที่เป็นที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากเดิมที่อยู่ในนิวยอร์ก"นายเบน กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้แผนการเปิดโครงการโรงแรมทั้งสองแห่งได้เลื่อนออกไปจากในช่วงต้นปี แต่บริษัทยังเชื่อว่าหลังจากเปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้แล้วจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวในประเทศ และชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในไทย ขณะเดียวกันผลกระทบของโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องกลับมาวางแผนการลงทุนในโครงการใหม่ที่ระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมของบริษัท

โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสย่านพระราม 3 และโรงเรียนนานาชาติ ได้เลื่อนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ เช่นเดียวกับที่ดินในจังหวัดฉะเทริงเทรา ซึ่งบริษัทยังไม่มีแผนการพัฒนาโครงการที่ชัดเจนออกมา ยังต้องรอดูว่าปัจจัยโควิด-19 จะคลี่คลายลงชัดเจนเมื่อไหร่ และภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาชัดเจนได้ช่วงไหน

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศบริษัทยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนในต่างประเทศเหลือเพียงสถานศึกษาในเมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ ส่วนโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ในอังกฤษได้ขายเข้ากองทุนไปแล้ว ทำให้รายได้จากต่างประเทศจะมีเพียงรายได้จากสถานศึกษาในอังกฤษเข้ามาเพียงธุรกิจเดียวเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ