KTC คาดสิ้นปี 63 NPL ปรับลดมาที่ 4-5% หลังคลายล็อกดาวน์ จากขึ้นไปถึง 6.6% ใน Q2/63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 11, 2020 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) คาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมในสิ้นปี 63 จะปรับตัวลดลงมาที่ 4-5% จาก 6.6% ในไตรมาส 2/63 ซึ่งเป็นช่วงที่ NPL สูงที่สุด และจะค่อย ๆ ดีขึ้นในไตรมาส 3/63

ทั้งนี้ จากการที่บริษัทใช้เกณฑ์ใหม่ของมาตรฐานบัญชี TFRS9 ที่เปลี่ยนระยะเวลาการตัดจำหน่ายหนี้สูญ (Write off) เพิ่มเป็น 24 เดือน ด้วยเกณฑ์ดังกล่าวทำให้การ write off ทำได้ช้าลงกว่าเดิมมาก ครึ่งปีแรก ทำได้เพียง 300 ล้านบาท ทำให้ NPL ปรับตัวขึ้นไปสูงในไตรมาส 2/63 ในขณะที่มาตรฐานเดิม ตัดแล้ว 600 ล้านบาท จึงได้หารือกับผู้สอบบัญชี ปรับระยะเวลาการ Write off กลุ่มลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกัน 6 เดือนก็จะทำให้ NPL ปรับตัวลดลงประมาณ 4% ด้วยพอร์ตวันนี้ดีขึ้นมากกว่าไตรมาส 2/63 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์ และทำให้สัดส่วนของค่าเผื่อผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อ NPL (NPL Coverage Ratio) ใกล้ 180% จาก 158%ในไตรมาส 2/63

ส่วนการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลคาดว่าจะเติบโต 10% ได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2 /63 ทำไม่ได้มาก แต่เนื่องจากได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 28% มาที่ 25% ส่วนบัตรเครดิต ในช่วง 6 เดือนที่แล้วยอดใช้จ่ายลดลง 8% แต่ดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมที่ลดลง 15% และปัจจุบันดีขึ้น แต่เป้าหมายที่เคยวางไว้เติบโต 4-5% เห็นว่าคงยากมาก จากยอดใช้จ่ายในกลุ่มท่องเที่ยวหายไป แต่ยังได้กลุ่มความงามเข้ามาชดเชย โดยค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวมีสัดส่วน 9%

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC เชื่อว่าธุรกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อดีขึ้นจากเดือนเม.ย.63 มีอัตราการผิดชำระหนี้สูงมาก โดยในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 มีลูกค้าที่มาขอปรับดอกเบี้ยของสินเชื่อ และผ่อนชำระนาน 48 เดือนอยู่กว่า 7 พันราย โดยเมื่อส.ค.มีผิดนัดชำระกว่า 2% และขณะนี้มีหนี้ผิดนัดชำระต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดว่าลูกหนี้ที่เหลืออยู่ในพอร์ตเป็นลูกค้าหนี้คุณภาพดี

"เราเชื่อว่าผู้ถือบัตรมี 7 ล้านคน โควิดอาจถึงกระทบ 1.5-2 ล้านคน เชื่อว่าลูกค้า Qualified 5.5 ล้าน และมี 2 ล้านเศษ เชื่อว่าอาจมีลูกค้าที่คิดว่ามีปัญหา 2 ล้านเศษ ซึ่งมีอยู่ในทุกอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็กลับมา"

ในงวด 6 เดือนแรกปีนี้ พอร์ตสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 52,242 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 62 ที่ 56,914 ล้านบาท ส่วนพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลอยุ่ที่ 30,244 ล้านบาท จากสิ้นปี 62 อยู่ที่ 28,933 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ