(เพิ่มเติม) "เอสซีจี แพคเกจจิ้ง" คาดเข้าเทรดใน SET ภายในเดือนต.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 23, 2020 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม)

น.ส.วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ขณะนี้แบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ของบมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลดาหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และแบบ Filing ของ SCGP มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถนำหุ้น SCGP เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ภายในเดือนต.ค.นี้

(เพิ่มเติม)

สำหรับช่วงราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ SCGP ที่กำหนดไว้ 33.50-35.00 บาท/หุ้น นับว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ มี P/E ที่ราว 22-23 เท่า ขณะที่หุ้นที่เทียบเคียงกลุ่มการบริโภคอย่างบมจ.โอสถสภา (OSP) หรือบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) มี P/E อยู่ที่ประมาณกว่า 30 เท่า โดยยังเชื่อว่าผลประกอบการของ SCGP ยังมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต

SCGP จะประกาศราคาสุดท้ายที่เสนอขาย IPO ในวันที่ 8 ต.ค. โดยการขายหุ้นครั้งนี้มีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีบล.ไทยพาณิชย์ บล.บัวหลวง เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

การเสนอขาย IPO ของ SCGP แบ่งเป็น 1. การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 1,127.55 ล้านหุ้น ซึ่งจะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นของ SCGP ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น 2.82 ล้านหุ้น , ผู้ถือหุ้นของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร 169.13 ล้านหุ้น , บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 75.3 ล้านหุ้น ,ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ในประเทศไทย 600 ล้านหุ้น ,ผู้มีอุปการคุณของบริษัท 143.76 ล้านหุ้น ,รายย่อย 60 ล้านหุ้น และผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ต่างประเทศ 76.53 ล้านหุ้น 2. หุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 169.13 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) หรือ Greenshoe

การเสนอขายหุ้น IPO ของ SCGP ในส่วนที่จัดสรรให้กับ Cornerstone Investors ขณะนี้ได้ปิดการลงนามสัญญาจองซื้อหุ้นแล้วกับสถาบัน 18 รายทั้งในและต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของหุ้น IPO ทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ 14 ราย รวม 600 ล้านหุ้น ได้แก่ บลจ.บัวหลวง , บลจ.กสิกรไทย ,บลจ.ไทยพาณิชย์ , บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ,บลจ.ทิสโก้ , บลจ.กรุงไทย , บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) , บลจ.ธนชาต , บมจ.ไทยประกันชีวิต , บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) ,บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ,บลจ.พรินซิเพิล , บลจ.ภัทร และบลจ.วรรณ ขณะที่เป็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 4 ราย รวม 76.53 ล้านหุ้น ได้แก่ Avanda Investment Management Pte ltd , NTAsian Discovery Master Fund , Ghisallo Master Fund LP และ Tudor Systematic Tactical Trading L.P.

โดยการจองซื้อหุ้นของ Cornerstone Investors ที่มีสัดส่วนค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจโอกาสการเติบโตและการเป็นผู้นำในยุคเศรษฐกิจใหม่ (new economy) ที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมและจุดเด่นในหลาย ๆ เรื่อง

ทั้งนี้ SCGP เป็นบริษัทย่อยของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และเป็น 1 ใน 3 ธุรกิจหลักของ SCC ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) เพื่อให้บริการโซลูชั่นด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ (Fiber-Based Packaging) บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและโพลิเมอร์ (Performance and Polymer Packaging : PPP) และภาชนะบรรจุอาหาร (Food Service Products) พร้อมบริการออกแบบ การพิมพ์และโซลูชั่นที่หลากหลายตามที่ลูกค้าต้องการ

ปัจจุบัน SCGP มี 40 โรงงานใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ,เวียดนาม ,อินโดนีเซีย , ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยมีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคอาเซียน 36% โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 59-62) มีรายได้จากการขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% และมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยปีละ 15.2% โดยในปี 62 มีรายได้จากการขาย 8.9 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5.89 พันล้านบาท ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้จากการขาย 4.59 หมื่นล้านบาท เติบโต 10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 4.2 พันล้านบาท เติบโต 45.6% จากงวดปีก่อน

นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน ของ SCGP คาดว่าการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้จะระดมเงินทุนได้ราว 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท (รวม Greenshoe) โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้ราว 2.7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้รองรับการขยายกำลังการผลิตของบริษัท (organic) การเข้าซื้อกิจการ รวมถึงทรัพย์สินอื่น (inorganic) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายกำลังผลิตอีก 4 โครงการ ในไทย,เวียดนาม,อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ใช้งบลงทุนรวมกว่า 8.2 พันล้านบาท ซึ่งทยอยแล้วเสร็จในปี 63–64 ช่วยเพิ่มความสามารถการผลิตบรรจุภัณฑ์และขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น และอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าซื้อหุ้นใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ผลิตชั้นนำในด้านบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำจากเยื่อและกระดาษ (Fiber-based packaging) ในเวียดนาม ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้บริษัทเติบโตได้ต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้จะนำเงินบางส่วนราว 1.0-1.3 หมื่นล้านบาทไปใช้คืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน ก็ช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 0.9 เท่า และจะช่วยให้งบการเงินมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยราคาที่เสนอขาย IPO และจำนวนหุ้นที่มีอยู่ คาดว่าเมื่อหุ้น SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีมาร์เก็ตแคป ราว 1.4 แสนล้านบาท ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะที่หุ้นของบริษัทจะเข้าไปอยู่ใน SET50 ในวันแรก ๆ ที่เข้าจดทะเบียน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SCGP กล่าวว่า บริษัทวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยชูศักยภาพเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน มุ่งเน้นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและโพลิเมอร์ ทั้งแบบอ่อนตัวและแบบคงรูป บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียน โดยมีการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้บริษัทเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งในด้านรูปแบบ คุณสมบัติและวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยมีฐานการผลิตใน 5 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลายครอบคลุมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และสินค้าอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ บริษัทมองว่าอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน และมี 4 เมกะเทรนด์ที่จะส่งผลดีต่อปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ ได้แก่ อัตราการบริโภคบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์จากโพลิเมอร์ที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรและไลฟ์สไตล์ การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น

"ในอดีตที่ผ่านมาเราเจอวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่เราผ่านวิกฤติ เราก็ออกจากวิกฤติด้วยธุรกิจที่เติบโตมากยิ่งขึ้น และก็แข็งแรงมากยิ่งขึ้น ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เราอยู่ในช่วงที่ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ด้วยเงินทุนที่ได้จากตลาดหลักทรัพย์ ก็จะมา funding growth ของ SCGP ก็จะ unlock growth ของเราในอาเซียนได้ ประกอบกับการมี passion มี aspiration รวมถึง commitment ของทีมผู้บริหาร ที่ทำองค์กรนี้ให้เติบโตให้เจริญก้าวหน้า และมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต"นายวิชาญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ