ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิต-หุ้นกู้ GPSC ที่ "AA-" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 30, 2020 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่ระดับ "AA-" พร้อมทั้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "AA-" และคงแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" เช่นเดิม โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศ รวมถึงการมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่ม ปตท. ตลอดจนนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสำคัญของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทหลักที่รับผิดชอบด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของประเทศ

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมเท่ากับ 5,026 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างดำเนินงานจำนวน 4,748 เมกะวัตต์ บริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติซึ่งผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดราว 3,399 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 67% ของกำลังการผลิตรวม ตามมาด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 814 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 16% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและหน่วยผลิตไฟฟ้า Energy Recovery Unit (ERU) หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้กากน้ำมันที่เหลือจากกระบวนการกลั่นมาผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ คิดเป็นกำลังการผลิตที่เหลือรวม 813 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าของบริษัทมีความหลากหลาย

บริษัทเป็นเจ้าของในโรงไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวในหลากหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 36 แห่งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้า 6 แห่งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) มีกำลังการผลิตรวม 2,439 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 49% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท บริษัทยังมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอีก 18 แห่งที่อยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมเท่ากับ 2,192 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 43% ของกำลังการผลิตรวมของบริษัทอีกด้วย ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีก 8% เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 11 แห่งและหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU อีก 1 แห่ง

โรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมของบริษัทประมาณ 97% ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดและระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นตั้งอยู่ในหลายประเทศทั้งประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศญี่ปุ่น

มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว

ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งต่อไปได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีกับ กฟผ. รวมถึงลูกค้าอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 67% ของกำลังการผลิตทั้งหมดให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา IPP และ SPP โดยสัญญาที่มีกับ กฟผ. มีอายุสัญญาประมาณ 21-25 ปี สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า IPP นั้น บริษัทจะได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment -- AP) เต็มจำนวนตราบเท่าที่บริษัทสามารถทำให้โรงไฟฟ้ามีความพร้อมในการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อไฟฟ้าถึงแม้ว่า กฟผ. จะไม่ได้สั่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเลยก็ตาม

ในส่วนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SPP นั้นมีความแตกต่างเล็กน้อยไปจากโรงไฟฟ้า IPP โดย กฟผ. ตกลงรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจำนวน 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ ทั้งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท IPP และ SPP นั้นยังมีกลไกส่งผ่านภาระค่าก๊าซด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญา SPP แบบ Non-firm อีกด้วยเพื่อช่วยบริหารจัดการเรื่องการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่มีข้อบังคับให้บริษัทต้องจ่ายกระแสไฟฟ้า

บริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าอุตสาหกรรมหลายรายในเขตพื้นที่มาบตาพุดอีกด้วย สัญญาดังกล่าวมีอายุ 5-15 ปีและมีการระบุปริมาณรับซื้อขั้นต่ำโดยจะมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ด้วย

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 รายได้จาก กฟผ. คิดเป็นสัดส่วน 45% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่รายได้จากลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 53% โดยรายได้จากลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมาจากลูกค้าในกลุ่ม ปตท. ประมาณ 51%

โครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นตามแผน

ในเดือนตุลาคม 2562 บริษัทเพิ่มทุนจำนวน 7.4 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) ตามที่บริษัทวางแผนไว้ จึงเป็นผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทลดลงเหลือ 8.8 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 จาก 1.61 แสนล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ก็ปรับตัวดีขึ้นเป็น 4 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคงอยู่ที่ระดับ 44.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563

การเชื่อมต่อโรงไฟฟ้าในเขตมาบตาพุดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

จากการที่โรงไฟฟ้าของบริษัทและของ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน บริษัทจึงมีแผนจะควบรวมการดำเนินงานและการซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าทุกโรงรวมถึงการเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าและท่อส่งไอน้ำในเขตพื้นที่มาบตาพุดเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยแผนดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2.7 พันล้านบาทและคาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 บริษัทคาดหวังว่าจะได้กำไรเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1.6 พันล้านบาทต่อปีจากการประหยัดต้นทุนและการพัฒนาประสิทธิภาพเมื่อแผนดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์

วันที่ 17 มิถุนายน 2563 บริษัทได้เชื่อมต่อโรงไฟฟ้า CUP-3 และโรงไฟฟ้าของบริษัทโกลว์ พลังงานจนแล้วเสร็จซึ่งทำให้โรงไฟฟ้ามีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานดีขึ้น จากการที่โรงไฟฟ้าของบริษัทโกลว์ พลังงานสามารถส่งไอน้ำส่วนเกินไปยังโรงไฟฟ้า CUP-3 ได้

ภาระหนี้อยู่ในระดับสูงระหว่างการขยายกำลังการผลิต

ในช่วงปี 2563-2566 บริษัทคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายส่วนทุนรวมประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาทเพื่อการซ่อมบำรุงและพัฒนาโครงการใหม่ ๆ โดยค่าใช้จ่ายหลัก ๆ จะใช้ไปกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าทดแทน SPP (SPP Replacement) และหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU

ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าในช่วงปี 2563-2566 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 0.8-1 แสนล้านบาท ในขณะที่ประมาณการอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 5 เท่าในปี 2566 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ระดับ 46.4% ในปี 2566

การสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากกลุ่ม ปตท.

ทริสเรทติ้งคาดว่ากลุ่ม ปตท. จะยังคงให้การสนับสนุนที่แข็งแกร่งแก่บริษัทต่อไปในฐานะที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่รับผิดชอบด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าของกลุ่ม ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. โดยซื้อหุ้นของบริษัทจาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โดยธุรกรรมดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงของ ปตท. ในบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 31.7% จากเดิม 22.8% และจะช่วยลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้นและช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการของบริษัท ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะทำให้การถือหุ้นของ ปตท. ในบริษัทสอดคล้องกับการถือหุ้นในบริษัทเรือธงอื่น ๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. อีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ในปี 2563-2566 ประมาณการรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 6.3-6.8 หมื่นล้านบาทต่อปี และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณปีละ 2-2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 0.8-3.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2566 ซึ่งรวมเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าทดแทน SPP และหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU

เงินสดในมือขั้นต่ำจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท

การจ่ายปันผลจะอยู่ที่ประมาณปีละ 4 พันล้านบาทในปี 2563-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทที่มีอยู่จะดำเนินงานด้วยความราบรื่นต่อไปเช่นเดิมและสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนได้ตามประมาณการ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากการรวมธุรกิจผลิตไฟฟ้ากับ บริษัทโกลว์ พลังงาน ดำเนินไปด้วยความราบรื่นและสามารถปรับลดระดับหนี้สินได้ตามแผนที่วางไว้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมีสาระสำคัญจากที่คาดการณ์ไว้หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากการก่อหนี้เพิ่มจำนวนมากเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ