กูรูแนะผู้ลงทุนแสดงสิทธิให้ถูกต้อง-เกาะติดความคืบหน้าหาก บจ.เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 30, 2020 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชษฐ์ชฎิล กาญจนอุดมการ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบังคับคดีล้มละลาย กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยในรายการห้องเรียนนักลงทุน ตอน "การล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ : เรื่องควรรู้สำหรับนักลงทุน" ว่า การฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลายมีความแตกต่างกัน ซึ่งที่มาของการฟื้นฟูกิจการถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้กฎหมายล้มละลายที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2541 โดยมีจุดประสงค์ให้ธุรกิจที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวสามารทำธุรกิจต่อไปได้และชำระหนี้ได้ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องล้มละลาย ผ่านการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

หลักเกณฑ์การยื่นขอฟื้นฟูกิจการถือเป็นความสมัครใจของลูกหนี้ ซึ่งแตกต่างจากคดีล้มละลายที่เจ้าหนี้เป็นผู้ฟ้องเท่านั้น แต่การฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ขอเองก็ได้ หรือ เจ้าหนี้ร้องขอให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการก็ได้, หรือผู้กำกับดูแลเป็นผู้ขอก็ได้ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำกับดูแลสถานบันการเงิน เป็นต้น โดยจุดเริ่มต้นจะมาจากการขาดสภาพคล่อง มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ภายในระยะเวลากำหนด แต่อยู่ในฐานะที่สามารถปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปได้ก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้

นอกจากนี้ บริษัทที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้นั้นจะต้องเป็นหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และต้องเป็นบริษัทจำกัด, บริษัทมหาชน หรือเป็นนิติบุคคลอื่น รวมถึงต้องมีเหตุอันสมควร เช่น การเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการจะส่งผลดีต่อเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างไร หรือดีกว่าการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้ศาลจะเป็นผู้พิจารณาตัดสิน นอกจากนั้นบริษัทจะต้องไม่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

ขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (กรณีฟื้นฟูสำเร็จ) 1. ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล ได้แก่ ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และผู้กำกับดูแล 2. ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอ ซึ่งจะใช้เวลา 2-6 เดือน จะเกิดสภาวะพักการชำระหนี้ 3.ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูและตั้งผู้ทำแผน 4. เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ 5.ผู้จัดทำแผนนำส่งแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 3 เดือน หรือขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เดือน 6. ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน มีระยะเวลา 1.5-2 เดือน หากที่ประชุมไม่เห็นด้วย ศาลมีคำสั่งยกเลิกให้ฟื้นฟูกิจการ แต่หากเห็นด้วย ศาลจะเป็นผู้พิจารณาแผนว่าทำได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ และให้ออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

แต่หากการฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ ศาลก็สั่งให้ล้มละลายได้ โดยอำนาจจะเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าไปดำเนินการตามกระบวนการ และขายทอดตลาดให้เร็วที่สุด ซึ่งกรณีที่เป็นเจ้าหนี้ ให้ไปยื่นรับชำระหนี้ใหม่ ภายในระยะเวลา 2 เดือน เพื่อให้สิทธินั้นกลับเข้าสู่คดีล้มละลาย

น.ส.เอมอร สวัสดี รองผู้บริหาร ฝ่ายกฎหมายและนิติกรรมสัญญา บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด กล่าวว่า กฎหมายล้มละลายมีหลักการที่แตกต่างจากกฎหมายฟื้นฟูกิจการ คือ หากเจ้าหนี้หนึ่งรายฟ้องล้มละลายเพื่อรวบรวมหนี้สินและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมดมาเพื่อจัดการในคราวเดียว โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นผู้รวบรวมทรัพย์สินหนี้สิน เพื่อชำระสะสางหนี้สินของลูกหนี้ และนำเงินที่ได้มาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ทุกรายตามสัดส่วนหนี้ แต่อย่างไรก็ตามโอกาสที่ธุรกิจนั้นจะกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ก็ยังพอมีโอกาสอยู่บ้าง ถ้าลูกหนี้มีการยื่นขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย แต่ก็มีความยากที่จะรอด จึงเป็นที่มาของการประกาศใช้กฎหมายฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามดูว่าบริษัทที่ลงทุนอยู่หรือกำลังจะลงทุนมีแนวโน้มเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการหรือล้มละลายหรือไม่ แนะนำให้ดูงบการเงินของบริษัทว่าส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร, กระแสเงินสดเป็นอย่างไร, ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องหรือไม่ และติดตามข่าวสารจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

พร้อมกันนี้ หากบริษัทที่ลงทุนเข้าสู่กระบวนการทำแผนฟื้นฟู และทางเจ้าหนี้ได้รับแผนนั้นเข้ามา สิ่งที่ต้องทำ คือ ดูว่าในแผนนั้นมีชื่อเราอยู่หรือไม่, แผนนี้จัดให้เราเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มไหน ถูกต้องหรือไม่ เช่น เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้หุ้นกู้ หรือเจ้าหนี้แรงงาน ถ้าไม่ถูกต้อง ให้รีบไปคัดค้านการจัดกลุ่มไม่ถูกต้อง โดยมีเวลา 7 วัน เนื่องจากสิทธิที่ควรจะได้รับอาจไม่ได้รับอย่างที่ควร, ดูเงื่อนไขของการชำระหนี้เป็นอย่างไร พอใจหรือไม่

และดูว่าบริษัทนี้มีทรัพย์สินมูลค่าเท่าไร ดูได้จากงบการเงิน เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ว่า เจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ไม่น้อยกว่าการเข้าสู่การล้มละลาย ซึ่งหากพอใจในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็ให้เจ้าหนี้ไปดำเนินการโหวตรับแผน แต่หากไม่พอใจก็ให้ไปโหวตไม่รับแผน หรือ ขอแก้ไขแผน โดยจะขึ้นอยู่กับที่ประชุมเจ้าหนี้

ส่วนนักลงทุนรายย่อย หากบริษัทที่ลงทุนอยู่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และศาลมีการตั้งผู้ทำแผน สิ่งที่ควรดู คือ การลงทุนในบริษัทนั้นในรูปแบบไหน เช่น ตราสารหนี้ หรือตราสารทุน หากเป็นตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ นักลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ อันดับแรกให้เตรียมเอกสารหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าหนี้, ยื่นขอรับชำระหนี้ได้ทันเวลา, ภาระหนี้ที่ลงทุนไป และผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งต้องนำไปยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยสิทธิและหน้าที่ต่างๆ จะเหมือนกับเจ้าหนี้ทุกประการ มีสิทธิโหวตรับ คัดค้านแผน และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามแผนที่ทำไว้

ด้านนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารทุน จะมีความแตกต่างกับตราสารหนี้ เนื่องจากผู้ลงทุนเปรียบเสมือนกับเจ้าของบริษัทจากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทนั้น ทำให้สิทธิและหน้าที่ของผู้ถือหุ้นจะตกไปอยู่กับผู้ทำแผน หรือผู้บริหารแผน ยกเว้นสิทธิได้รับเงินปันผลยังเป็นของผู้ถือหุ้นเหมือนเดิม ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนควรดู คือ ในแผนการฟื้นฟูกิจการมีการปรับโครงสร้างทุนหรือไม่ ซึ่งอาจกระทบกับสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ลงทุนลดลง

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในกรณีที่ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ หรือคำฟ้องล้มละลาย ทาง ตลท.ได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลผ่านการขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) เพื่อแสดงว่า บจ.มีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ เพื่อเตือนนักลงทุนและให้ บจ.เร่งแก้ไข และหากบริษัทนั้นมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์ก็จะขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-Compliance) หรือ หลักทรัพย์ของ บจ.ที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรืออยู่ระหว่างการเปิดซื้อขายชั่วคราว เพื่อกระตุ้นให้บจ.เร่งฟื้นฟูกิจการ

ขณะเดียวกัน ตลท.ก็มีการกำหนดแนวทางการเปิดเผยข้อมูลของ บจ.ที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกระบวนการ พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่ง บจ.จะต้องเปิดเผยข้อมูลภายในวันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น หรือภายใน 9.00 น.ของวันถัดไป โดยข้อมูลที่ต้องเปิดเผย ประกอบด้วย สาระสำคัญของคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ, กำหนดวันที่ศาลนัดไต่สวน, คำสั่งศาลให้ฟื้นฟู การตั้งผู้ทำแผน กำหนดวันนำส่งแผน, มติที่ประชุมเจ้าหนี้ กำหนดวันที่คาดว่าศาลจะพิจารณาเห็นชอบแผน, สาระสำคัญของแผน การแต่งตั้งผู้บริหารแผน และความคืบหน้าการปฎิบัติตามแผนทุก 3 เดือน เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ