รฟม.ยันไม่มีทางเสียค่าโง่คดี BTS ฟ้องเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกสายสีส้ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 6, 2020 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวชี้แจงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) โดยระบุว่าอาจทำให้เสียค่าโง่

ผู้ว่า รฟม.กล่าวว่า เนื่องจากคำฟ้องของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ที่คัดค้านประเด็นการเปลี่ยนแปลง RFP ขอให้ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการคัดเลือกโครงการนี้ ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหาย ดังนั้น ถึงแม้ที่สุดอาจแพ้คดีก็ไม่ได้จะทำให้รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด

"ในคำร้องไม่ได้พูดถึงค่าเสียหาย เป็นเพียงการขอเพิกถอนมติ ไม่มีการจ่ายชดเชยใดๆทั้งสิ้น"นายภคพงศ์ กล่าว

ส่วนประเด็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข RFP ยืนยันยันว่าสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และมีข้อสงวนไว้ใน RFP โดยความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น เพราะอยู่ในช่วงให้เอกชนเตรียมข้อเสนอก่อนนำมายื่นให้กับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลังการยื่นข้อเสนอของเอกชน พร้อมกันนั้น ยังได้ขยายเวลาให้เอกชนจัดเตรียมข้อเสนอเป็นมากกว่า 70 วัน จากเดิม 60 วัน จุดนี้ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของเอกชน เพราะทุกรายมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอได้อยู่แล้ว

"เรามั่นใจว่าชนะคดี มั่นใจไม่ยืดเยื้อ เรายังไม่เห็นผู้ฟ้องคดีเสียหายอะไร เราไม่ได้เพิกถอนสิทธิกับผู้ฟ้องคดี เพียงปรับปรุงข้อเสนอ ซึ่งผู้ซื้อเอกสารก็แจ้งกับทุกราย ...ขอให้รอดูผลคำสั่งศาลจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่"ผู้ว่าการ รฟม.กล่าว

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนในวันที่ 14 ต.ค.63 เป็นครั้งแรก

ส่วนประเด็นข้อสงวนใน RFP นายภคพงศ์ กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36ฯ สามารถดำเนินการได้ และจะเป็นประโยชน์กับโครงการเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินโครงการสำเร็จ โดยได้ปรับการให้คะแนนเทคนิค (ซอง 2) และคะแนนผลตอบแทน (ซอง 3)มาพิจารณาคัดเลือกเอกชน ให้ใช้คะแนนเทคนิค 30% และคะแนนผลตอบแทน 70% จากเดิมพิจารณาซอง 2 ก่อนหากผ่านจะพิจารณาซอง 3

โดยเหตุผลที่ให้นำคะแนนเทคนิคมาประกอบการพิจารณาก็เพื่อความปลอดภัยเพราะเป็นสาธารณประโยชน์ เนื่องจากเส้นทางก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกเป็นเส้นทางใต้ดินเป็นอุโมงค์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของบ้านเรือนที่เป็นอาคารเก่า จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบในด้านนี้ รวมถึงการให้บริการการเดินรถก็ต้องมีความปลอดภัยด้วย ยกตัวอย่างการซื้อรถยนต์ที่มีออพชั่นมากกว่าราคาย่อมสูงกว่า

ผู้ว่า รฟม.ระบุอีกว่า ในเอกสาร RFP ระบุว่าจะต้องมีประสบการณ์สร้างอุโมงค์ใต้ดินขนาด 5 เมตร มีประสบการณ์ก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า แต่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นผู้ซื้อเอกสาร RFP จะใช้ผู้รับเหมาช่วง (Subcontract) ก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่างานก่อสร้างโครงการจะสำเร็จ

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะกำหนดกรอบดุลพินิจของคณะกรรมการในการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคหลังจากรับข้อเสนอของเอกชนครบถ้วนแล้ว เพราะหากกำหนดก่อนก็เหมือนข้อสอบรั่ว พร้อมกับการพิจารณาผลตอบแทน นอกจากนี้ กรรมการก็ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย จึงเชื่อมั่นได้ว่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ยังให้น้ำหนักการพิจารณาด้านผลตอบแทนมากถึง 70% ที่เอกชนจะให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ แลกกับสัมปทานเดินรถ 30 ปี โดยได้กำหนดค่าตอบแทนกลางเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) 1 พันล้านบาท บนอัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ชัดเจนที่ 16-42 บาท เท่ากับค่าโดยสารสายสีน้ำเงิน และรัฐจะจ่ายค่างานโยธาหลังจากก่อสร้างแล้ว 2 ปี และทยอยจ่ายเป็นระยะเวลา 7 ปี โดยมีมูลค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาทซึ่งส่วนนี้ต้องเสนอราคาต่ำ

นายภคพงศ์ กล่าวว่า ระยะเวลาดำเนินการหลังจากที่เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 9 พ.ย.63 คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์เปิดข้อเสนอคุณสมบัติ (ซอง 1) ประมาณปลายเดือน พ.ย.63 หลังจากนั้นจะเปิดซอง 2 และซอง 3 พร้อมกัน จากนั้นจะพิจารณาอีก 1 เดือน คาดว่าต้นปี 64 น่าจะรู้ผลผู้ชนะการประมูล

อนึ่ง ผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน 10 บริษัท ได้แก่ 1.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 2.บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) 3.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 4.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) 5.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) 6.บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) 7.บมจ. ช.การช่าง (CK) 8.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 9.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด 10.บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง. 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ