IPO_INSIGHT SFT ไอพีโอสายนวัตกรรมแพ็คเกจจิ้งฝ่าตลาดเดือดโค้งสุดท้าย เร่งขยายกำลังผลิตโตสวนโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 19, 2020 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เกาะติดความเคลื่อนไหวของหุ้นน้องใหม่อย่าง บมจ.ชริ้งเฟล็กซ์ (ประเทศไทย) (SFT) เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 120 ล้านหุ้น ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 63

โมเดลธุรกิจ SFT เป็นหนึ่งในผู้นำการบริการ Labeling Solutions แบบครบวงจร ด้วยผลิตภัณฑ์ฉลากฟิล์มหดรัดรูปในภูมิภาคอาเซียน ที่มีประสบการณ์กว่า 12 ปีตอบโจทย์ทางการตลาดในการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์สินค้า (Brand Identity) ครบวงจรตั้งแต่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ การเลือกรูปทรงบรรจุภัณฑ์ และการออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์

ประกอบด้วย การพิมพ์ฉลากฟิล์มหดรัดรูปด้วยการพิมพ์แบบกราเวียร์ คิดเป็นสัดส่วนผลิต 94% ที่มีคุณภาพความละเอียดสูง รวดเร็ว รองรับความต้องการลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ต้องการฉลากฟิล์มหดรัดรูปเป็นจำนวนมาก และระบบการพิมพ์แบบดิจิตอล คิดเป็นสัดส่วนผลิต 6% ซึ่งเป็นระบบการพิมพ์ที่ไม่ต้องใช้แม่พิมพ์ แต่ใช้เทคนิคการสร้างภาพด้วยระบบเลเซอร์ รองรับความต้องการกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีปริมาณงานพิมพ์จำนวนไม่มาก และต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฉลากที่รวดเร็ว (Made to order) โดยปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าหลักรายใหญ่หลายราย

นายซุง ชง ทอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SFT ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า วิวัฒนาการของฉลากฟิล์มหดรัดรูปของไทยในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก จากพฤติกรรมของผู้ประกอบการเปลี่ยนไปเนื่องจากมีการขยายการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมากขึ้น จึงต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงามและเพิ่มมูลค่าสินค้ามากขึ้นด้วย รวมทั้งต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น และมีราคาเหมาะสมมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ฟิล์มหดรัดรูปของบริษัทเป็นที่ต้องการ เนื่องจากมีนวัตกรรมในการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

"ผลิตภัณฑ์ของ SFT ไม่ใช่แค่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าเพียงเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่สวยงามเท่านั้น แต่การวางตัวเองเป็น Professional ตั้งแต่เริ่มต้น หากลูกค้าที่ต้องการฟิล์มหดรัดรูปจะต้องมาหา SFT เท่านั้น แม้ว่าจะมีคู่แข่งหลายราย แต่บริษัทใช้กลยุทธ์ 3 ข้อหลักคือ ราคาที่ยอมรับได้ คุณภาพที่ดี และการบริการที่ดี และผู้ประกอบการรายอื่นไม่สามารถให้ได้ อย่างเช่นคำพูดที่บอกว่าราคาเกรดซี คุณภาพเกรดเอ ซึ่งเป็นสินค้าที่ทั้งถูกทั้งดีมีคนแย่งซื้ออยู่แล้ว แต่หากราคาเท่ากัน คุณภาพเท่ากัน บริษัทก็ยังมีการบริการทั้งก่อนการขายหลังการขายที่มีคุณภาพเสริมเข้าไปด้วย"นายซุง ชง ทอย กล่าว

*ดีมานด์ฟิล์มหดรัดรูปในไทยโตเกิน 10% ต่อปี

นายซุง ชง ทอย กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดฟิล์มหดรัดรูปทั่วโลกมีการเติบโตเฉลี่ยในแต่ละปีราว 8.5% จากการคาดการณ์ถึงปี 69 แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีการประมาณการเติบโตใหม่เป็นเติบโตเฉลี่ย 7.9% จนถึงปี 69 โดยตลาดขนาดใหญ่ที่สุด คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ จีน อินเดีย และ อินโดนีเซีย ซึ่งหากมีการเติบโตของ GDP การบริโภคต่างๆก็จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตลาดใหญ่สุดของฟิล์มหดรัดรูปคือผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและน้ำดื่ม

ขณะที่ตลาดฟิล์มหดรัดรูปในประเทศไทย สำนักวิจัยคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ไปจนถึงปี 69 เนื่องจากประเทศไทยเป็นครัวกลางของโลกที่มีการส่งออกอาหารจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังมีในกลุ่มของสินค้าเครื่องสำอางขนาดใหญ่ที่มีการส่งออกไปทั่วโลกเช่นกัน ซึ่งขนาดกำลังการผลิตทั้งอุตสาหกรรมฟิล์มหดรัดรูปในไทยอยู่ที่ประมาณกว่า 8,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 ตันภายในปี 69 โดยบริษัทมีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ราว 20% หรือเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

ทั้งนี้ มองว่าหากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถควบคุมได้ และมีการพัฒนาวัคซีนออกมาได้ ภาวะเศรษฐกิจต่างๆกลับมาฟื้นตัว ผู้ประกอบการรายเล็กต่างๆที่หายไป คำสั่งซื้อส่วนใหญ่ก็จะกลับมายังผู้ประกอบการขนาดใหญ่ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการเตรียมการเพื่อที่จะรองรับคำสั่งซื้อจำนวนมากที่จะกลับเข้ามาคาดว่าจะเห็นยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 65

"แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แต่บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะเราเป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มของอุปโภคบริโภคที่ยังมีความจำเป็น และมองว่าการเติบโตจากนี้ 6-10 ปีก็ยังไปได้เรื่อยๆ และเมื่อมองคู่แข่งที่อยู่ในตลาดเราไม่ได้กังวลเพราะมีบริษัทเรามีขนาดที่ใหญ่ได้เปรียบเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบที่สามารถต่อรองได้มากกว่ารายเล็ก ในขณะเดียวกันเรายังมีเครื่องจักรที่ทันสมัยกำลังซื้อจำนวนมากๆได้ เมื่อเทียบกับรายเล็กๆที่ชาวบ้านทำเราก็ถือว่าได้เปรียบกว่า ส่วนของรายใหม่ๆเองก็เข้ามาค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้ความชำนาญความใส่ใจ และอื่นๆอีก"นายซุง ชง ทอย กล่าว

*ระดมทุน mai ขยายกำลังผลิตหนุนศักยภาพกำไร

นายซุง ชง ทอย กล่าวต่อว่า แผนการระดมทุนจากการที่ SFT เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียน จะนำมาใช้ลงทุนขยายโรงงานแห่งที่ 2 โดยเฟสแรกจะซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายไลน์การผลิตบรรจุภัณฑ์ฉลากฟิล์มหดรัดรูป บนเนื้อที่ 5 ไร่ โซนบางนา-ตราด ห่างจากโรงงานเดิมประมาณ 7-8 กิโลเมตร จะเริ่มดำเนินการในปี 64 คาดว่าจะช่วยหนุนกำลังการผลิตจากเดิม 135 ล้านเมตรต่อปี ให้เพิ่มเป็น 185 ล้านเมตรต่อปี และจะทยอยเพิ่มมากขึ้นตามการทยอยติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มขึ้นคาดว่าจะเดินเครื่องเต็มการผลิตใหม่ได้ภายใน 3 ปี

ส่วนเงินที่เหลือจะใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินงาน และชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน คาดว่าหลังระดมทุนจะช่วยหนุนให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มมากกว่าปัจจุบันที่ 27.9% เนื่องจากการขยายโรงงานทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง

"อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทต้องขึ้นอยู่กับรายได้เพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิต เนื่องจากต้นทุนคงที่และมีโอกาสลดต่ำลงอีกในอนาคต ส่งผลบวกโดยตรงต่ออัตราการเติบโตของผลกำไรที่จะเพิ่มขึ้น เมื่อบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งคือได้รับต้นทุนทางการเงินถูกลง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้ดีขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ"นายซุง ชง ทอย กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 63 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัทมีรายได้รวม 330.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.05% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 294.95 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน 49.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อนที่ 43.40 ล้านบาท สัดส่วนรายได้หลักมาจากการผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูปในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 80% ของฐานลูกค้าทั้งหมด

ทั้งนี้ สัดส่วนการผลิตฉลากฟิล์มหดรัดรูปในกลุ่มธุรกิจอาหารมีประมาณ 63% , เครื่องดื่ม 23-24% , ความงาม 8% , ครัวเรือน 2%,เคมีภัณฑ์ 1% และอื่นๆ 2%

https://youtu.be/iEaacFtl8HE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ