CONSENSUS: โบรกฯเชียร์ซื้อ RBF คาด Q3/63 กลับมาฟื้นได้เร็ว กำไรโตทั้ง YoY และ QoQ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 28, 2020 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ต่างแนะนำ"ซื้อ"บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) คาดกำไรในไตรมาส 3/63 กลับมาเติบโตหลังชะลอในไตรมาส 2/63 จากติดล็อกโควิด-19 เพราะมีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ทั้งกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ที่ยังเติบโตท่ามกลางการระบาดโควิด-19 พร้อมควบคุมต้นทุนได้ดีส่งให้มาร์จิ้นดีขึ้น และยังมีการผลิตเพิ่มขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ คาดกำไรของ RBF ในไตรมาส 3/63 เติบโต 22-26% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน( YoY) มาที่ 129-133 ล้านบาท และเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) 19-26% นอกจากนั้นยังมองว่ากำไรในไตรมาส 4/63 จะทำระดับสูงสุดรอบปีเพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น และมองแนวโน้มตลาดต่างประเทศเติบโตได้อีกมาก ทั้งในอินโดนีเซียและเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจโรงแรมยังขาดทุนหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ล่าสุดก็เริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้น จากท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้นมากตามแรงกระตุ้นของภาครัฐจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

พักเที่ยงราคาหุ้น RBF ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 10.10 บาท ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.66%

          โบรกเกอร์                    คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ                ซื้อ                11.50
          ทิสโก้                          ซื้อ                11.10
          ฟินันเซีย ไซรัส                ซื้อเก็งกำไร            11.00
          โนมูระ พัฒนสิน                ซื้อเก็งกำไร            10.50

นางสาวสุรีย์พร ทีวะสุเวทย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวแนะนำซื้อเก็งกำไร สำหรับ RBF ด้วยราคาเป้าหมาย 11 บาท ราคาหุ้นมีอัพไซด์จำกัด แนะให้รออ่อนตัวก่อนแล้วค่อยเข้าซื้อ สำหรับปัจจัยระยะสั้น แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 3/63 น่าจะออกมาดี โดยคาดมีกำไรปกติ 133 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสก่อน 26% และเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26% ผลงานกลับมาฟื้นหลังไม่มีการล็อกดาวน์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าอาหารเครื่องดื่ม โดยเฉพาะ Functional Drink ที่ยังเติบโตแม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่โรงงานในอินโดนีเซีย ได้เริ่มการผลิตกะ 2 แล้วส่วนในเวียดนามที่เลื่อนออกไปจากโควิด-19 เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปลายเดือนต.ค.นี้

อย่างไรก็ดี ธุรกิจโรงแรมของ RBF แม้ยังเผชิญการขาดทุนแต่ลดลงในไตรมาส 3/63 โดยโรงแรมไอบิสที่เชียงใหม่ยังไม่ค่อยดี นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา แต่โรงแรมโนโวเทลที่ชุมพรกลับมียอดผู้เข้าพักระดับดี 70-80% จากการท่องเที่ยวในประเทศ

นางสาวสุรีย์พร ยังกล่าวอีกว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/63 จะดีขึ้น โดยคาดมีกำไร 145-150 ล้านบาทจากสินค้าใหม่ที่ทยอยออกมา และอยู่ในช่วงไฮซีซั่น รวมทั้งธุรกิจโรงแรมก็กำลังทยอยดีขึ้น ทั้งนี้ กำไรในปี 63 คาดว่าจะเติบโต 42.5% มาที่ 545 ล้านบาท และในปี 64 เติบโต 15.5% มาที่ 630 ล้านบาท

ด้านนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าว RBF เป็นหุ้นที่ยังชอบมาก ให้ราคาเป้าหมาย 11.10 บาท โดยเมื่อวันที่ 9 ต.ค.63 ได้ปรับคำแนะนำจาก Hold เป็น Buy เนื่องจากมีลูกค้าที่มีความหลากหลาย โดย RBF มีทีม R&D แข็งแกร่ง ทำให้มาร์จิ้นได้ค่อนข้างดี

กำไรสุทธิในไตรมาส 3/63 คาดว่าจะออกมาดีที่ราว 130 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสก่อน 19% และเติบโตจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 22% จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ มีการประหยัดค่าใช้จ่าย และมีการผลิตเพิ่มในอินโดนีเซีย ในขณะที่การดำเนินงานของโรงแรมได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่มุมมองการดำเนินงานของโรงแรมจะมีผลขาดทุน 50-70 ล้านบาทต่อปี

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดว่ากำไรของ RBF ในไตรมาส 3/63 กลับมาฟื้นตัวมาที่ 129 ล้านบาท เติบโต 22% YoY และ เติบโต 19% QoQ จากความยืดหยุ่นในรายได้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 จำกัดและฟื้นตัวได้เร็ว ขณะที่อัตรากำไรมีทิศทางขยายตัวหนุนโดย Product mix ที่เอื้อและการเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบใหม่ ส่วนการควบคุมต้นทุนยังทำได้ดีตามแผน

ทั้งนี้ คาดจะดีต่อเนื่องและมีโอกาสเห็นกำไร All Time High ได้ในไตรมาส 4/63 และเพิ่มเติมด้วยการได้อานิสงส์จากการแข่งขันในตลาด Functional drink ที่รุนแรงขึ้น จากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ใช้ผลิตภัณฑ์ของ RBF การแข่งกันออกสินค้าใหม่ในตลาดหมายถึงยอดขาย RBF ที่จะเพิ่มขึ้น, คาดยอดขายในประเทศจากธุรกิจอาหารจะฟื้นเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามภาคบริโภค อีกทั้งโอกาสได้ลูกค้าใหม่ในต่างประเทศหลังลงไปบุกตลาดเต็มที่ และการประหยัดต้นทุนเพิ่มเติมหลังเปิดโรงงานในอินโดนีเซีย ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมี U-rate ระดับ 70% คาดจะเกิดการประหยัดต่อขนาด และช่วยลดค่าขนส่ง ขณะที่โรงงานในเวียดนาม คาดจะเริ่มเห็นการประหยัดต้นทุนชัดเจนภายในไตรมาส 1/64

พร้อมยังคงมุมมองเชิงบวกกับ RBF ต่อเนื่อง จากแนวโน้มระยะสั้นที่โดนผลกระทบจำกัด ฟื้นตัวได้ไว อีกทั้งระยะกลาง-ยาวยังเติบโตได้ดีกับเทรนด์สุขภาพ และตลาดต่างประเทศที่ยังมีโอกาสโตได้อีกมาก โดยคาดกำไรโตได้เฉลี่ยต่อปี 26% ในอีก 3 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ