ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ TTW ที่ "AA-" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 1, 2020 10:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ทีทีดับบลิว (TTW) ที่ระดับ "AA-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นบริษัทเอกชนผู้ให้บริการน้ำประปาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาจำหน่ายน้ำประปาแก่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำและอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจสำหรับคู่แข่งที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจาก กปภ. เป็นหลัก ในขณะเดียวกันบริษัทก็ยังเผชิญกับโอกาสในการขยายธุรกิจในพื้นที่ดำเนินงานปัจจุบันของบริษัทที่มีจำกัดอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทเอกชนผู้ให้บริการน้ำประปารายใหญ่ที่สุดซึ่งมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้

พื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลมาจากสถานะในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและการมีสัญญาซื้อขายน้ำประปาระยะยาวที่มีกับ กปภ. โดยบริษัทจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ. ภายใต้สัญญาซื้อขายน้ำประปา 2 ฉบับซึ่ง กปภ. มีพันธะในการรับซื้อน้ำประปาจากบริษัทในปริมาณขั้นต่ำจำนวน 712,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน สัญญาฉบับแรกมีอายุ 25 ปีซึ่งจะครบกำหนดในปี 2566 และฉบับที่ 2 มีอายุ 30 ปีซึ่งจะครบกำหนดในปี 2577

โดยสัญญาฉบับแรกเป็นสัญญาสัมปทานที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและดำเนินงาน และจะส่งมอบสินทรัพย์ที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ กปภ. ภายหลังสิ้นสุดสัญญา (Build-Own-Operate-Transfer ? BOOT) ในขณะที่สัญญาฉบับที่ 2 เป็นสัญญาสัมปทานที่บริษัทเป็นทั้งผู้ลงทุนก่อสร้างและดำเนินงานเอง โดยสินทรัพย์จะยังคงเป็นของบริษัทภายหลังสิ้นสุดสัญญา (Build-Own-Operate ? BOO)

นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสิทธิในการดำเนินการผลิต จำหน่าย และให้บริการน้ำประปา รวมทั้งให้บริการบำบัดน้ำเสียในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินระยะเวลา 30 ปีอีกด้วย โดยสิทธิดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2582

ในปี 2562 และปี 2563 บริษัทมีรายได้หลักจากการให้บริการในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครและเขตพื้นที่รังสิต-จังหวัดปทุมธานีโดยมีสัดส่วนคิดเป็น 64% และ 31% ของรายได้ทั้งหมดตามลำดับ ในขณะที่รายได้จากการให้บริการในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินคิดเป็นสัดส่วน 5%

ได้รับผลกระทบไม่มากจาก โรคโควิด 19

อุปสงค์น้ำประปาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2562 และปี 2563 จากการขยายตัวของชุมชนที่พักอาศัยเป็นหลัก ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กปภ. ช่วงระยะเวลาที่มีมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) นั้น ยอดขายน้ำประปาให้แก่ผู้บริโภคประเภทครัวเรือนมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้ประเภทดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนยังเริ่มมีความระมัดระวังเกี่ยวกับสุขอนามัยเพิ่มยิ่งขึ้นและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน

ดังนั้น อุปสงค์น้ำประปาที่เพิ่มขึ้นจากผู้ใช้น้ำภาคครัวเรือนดังกล่าวจึงช่วยชดเชยอุปสงค์จากผู้ใช้น้ำในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่ลดลงได้ ส่งผลทำให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำประปาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 896,600 ลบ.ม. ต่อวันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 887,300 ลบ.ม. ต่อวันในปี 2562

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากการเติบโตที่ต่อเนื่องของชุมชนในพื้นที่ให้บริการของบริษัท โดยรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.2-6.4 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565

อุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจอยู่ในระดับสูง

การเข้าสู่ธุรกิจผลิตน้ำประปาในเขตพื้นที่ให้บริการของบริษัทนั้นถือเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ การสร้างท่อน้ำประธานและท่อจ่ายน้ำในพื้นที่ให้บริการต้องใช้เงินลงทุนที่สูงและต้องได้รับสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ การที่บริษัทเป็นเจ้าของท่อน้ำประธานและท่อจ่ายน้ำในพื้นที่ให้บริการบางส่วนจึงเป็นอุปสรรคต่อผู้ที่ต้องการเข้ามาเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งแหล่งน้ำดิบและการได้รับสัมปทานจาก กปภ. ซึ่งมีความเป็นไปได้ในระดับต่ำนั้นก็เป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่จะเข้าสู่ธุรกิจอีกด้วยเช่นกัน

ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทน่าจะยังอยู่ในระดับคงที่ในช่วงปีประมาณการ โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 5-5.2 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้นั้นคาดว่าจะสูงกว่า 80% ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สภาพคล่องและภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจและมีแนวโน้มที่จะดียิ่งขึ้นเนื่องจากความสามารถในการทำกำไรที่มีเสถียรภาพและบริษัทไม่มีแผนลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในช่วงปีประมาณการ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะลดลงต่ำกว่า 30% ในระยะ 3 ปีข้างหน้าหลังจากที่มีการจ่ายชำระคืนหนี้ตามกำหนด และมีการเบิกจ่ายงบสำหรับการลงทุนตามแผนแล้ว อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าระดับ 80% ในปี 2563 และ มากกว่าระดับ 100% ในปี 2564-2565 จากที่ระดับประมาณ 60% ในปี 2562 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีโดยใช้ข้อมูล 12 เดือนย้อนหลัง)

บริษัทน่าจะยังคงมีกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะเพียงพอสำหรับการจ่ายชำระหนี้ที่จะครบกำหนดจำนวนราว ๆ 1 พันล้านบาทในปี 2564 และแผนลงทุนอีกประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่การจ่ายเงินปันผลของบริษัทนั้นประมาณการอยู่ที่จำนวน 2.4 พันล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในสัดส่วน 24.98% ใน บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าอยู่ที่ 1.27 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งจะช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทได้อีกด้วย

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าและโอกาสในการขยายธุรกิจที่จำกัด

บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าโดยที่บริษัทมี กปภ. เป็นลูกค้ารายใหญ่อยู่เพียงรายเดียว ทั้งนี้ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมารายได้ต่อปีของบริษัทมาจากรายได้จากการจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ กปภ. มากกว่า 95% อย่างไรก็ตาม สถานะเครดิตของ กปภ. ก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้เนื่องจาก กปภ. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ กปภ. ยังถือว่าเป็นคู่แข่งของบริษัทอีกด้วยเนื่องจาก กปภ. มีโรงกรองน้ำประปาและมีโครงข่ายการจ่ายน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่บริษัทให้บริการอีกด้วย

การเติบโตในอนาคตของบริษัทมีข้อจำกัดเนื่องจากการเติบโตของรายได้นั้นขึ้นอยู่กับการเติบโตภายในพื้นที่ให้บริการปัจจุบันของบริษัทเป็นหลัก บริษัทอยู่ในระหว่างการพิจารณาที่จะทำการขยายบริการไปในพื้นที่ใหม่ ๆ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ในขณะเดียวกันนั้น กปภ. ก็ยังคงดำเนินนโยบายเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ผลิตน้ำประปาเอกชนเช่นเดิมและการให้สิทธิสัมปทานแก่ผู้ผลิตน้ำประปาเอกชนนั้นก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ที่ประกาศในปี 2561 อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนน้ำดิบของบริษัทเป็นบางส่วนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ปัจจุบันบริษัทได้รับอนุญาตให้สามารถสูบน้ำดิบจากแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลออกกฎหมายใหม่และเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมการสูบน้ำดิบจากบริษัทแล้ว กปภ. ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของต้นทุนค่าน้ำดิบที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายน้ำประปา 1 ใน 2 ฉบับที่บริษัทมีกับ กปภ.

สัมปทานของ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัดจะหมดอายุในปี 2566

สัญญาซื้อขายน้ำประปาระยะยาวระหว่างบริษัทลูกของบริษัทคือ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด และ กปภ. ซึ่งให้บริการครอบคลุมเขตพื้นที่รังสิต-จังหวัดปทุมธานีจะหมดอายุภายในเดือนตุลาคม 2566 โดยสัญญาปัจจุบันระบุว่าทางบริษัทประปาปทุมธานีมีสิทธิที่จะต่อสัญญาออกไปได้อีกจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี ทั้งนี้ จะมีการเจรจากันอย่างเป็นทางการระหว่างบริษัทประปาปทุมธานีและ กปภ. ก่อนการสิ้นสุดสัญญา 1 ปี

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าแนวโน้มที่บริษัทประปาปทุมธานีจะสามารถต่อสัญญาได้นั้นมีความเป็นไปได้สูง อย่างไรก็ตาม หากบริษัทประปาปทุมธานีไม่สามารถต่อสัญญาได้ตามที่คาดไว้ก็จะทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงไป 30% นับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป โดยรายได้จากการให้บริการในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 พันล้านบาทและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.5-2 เท่าในปี 2567

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้ของบริษัทจะเติบโตประมาณ 1% ต่อปีในช่วงปี 2563-2565

อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 80% ในช่วงปีประมาณการ

งบการลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 400 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานและคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทมีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงเป็นอย่างมาก

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างมีสาระสำคัญโดยไม่ทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอลง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เพิ่มมากเกินไปจนส่งผลกระทบในทางลบต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ