AOTจ่ายชดเชยผลกระทบเสียงก้อนแรก 168.8 ลบ.คาดเจรจาชาวบ้านยุติภายในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 14, 2007 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.ท่าอากาศยานไทย(ทอท.) หรือ AOT มอบเงินค่าชดเชยก้อนแรก 168.8 ล้านบาทให้กับศาสนาสถาน, สถานศึกษา, สถาบันพยาบาล รวม 9 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่ได้รับผลกระทบทางเสียง NES 30-40 (60-70 เดซิเบล)จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.ย. จากทั้งหมดที่จะได้รับ 16 แห่ง รวมเป็นวงเงิน 364 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.48 โดยคาดว่าอีก 7 แห่งที่เหลือจะได้ข้อยุติในสัปดาห์หน้า 
ส่วนบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ตามแนวเส้นเสียง NES เกินกว่า 40 ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ จะต้องได้รับการชดเชยมีอยู่ 100 หลัง แต่เมื่อรวมกับมติครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.50 ทอท.จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บ้านที่อยู่ตามแนวเส้นเสียงเกิน NES 40 อีก 766 หลัง รวมเป็น 866 หลัง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการชดเชยครั้ง 4.7 พันล้านบาท
ในส่วนนี้ บริษัทกำลังเจรจาซื้อคืน 200 หลังคาเรือน คาดว่าจะได้ข้อยุติในวันที่ 20 ก.ย. ส่วนที่เหลืออีก 500 กว่าหลังคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ สำหรับราคาที่รับซื้อจะใช้ราคาประเมินจากบริษัทที่ปรึกษา
"มูลค่าที่ซื้อขายไม่ใช่เป็นราคาที่ท่าอากาศยานไทยพอใจ และไม่ใช่เป็นราคาที่เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กำหนด เราจะมีบุคคลที่ 3 มาประเมินราคาทรัพย์สิน ก็จะเป็นมูลค่าที่ ทอท.จะเข้าไปเสนอซื้อ" นายสุรธัส สุธรรมมนัส ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ AOT) กล่าว
ส่วนกรณีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงแต่อยู่แนวเส้นเสียง NES 30-40 ไม่พอใจกับมติครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.50 จำนวน 18,253 หลัง และขอให้ ทอท.เข้าไปปรับปรุงสถานที่พร้อมออกมาเรียกร้องให้ยึดตามมติครม.เมื่อ 29 พ.ย.49 เพื่อให้ทอท.รับซื้อบ้านที่อยู่ตามแนวเส้นเสียง NES 30-40 ทั้งที่สร้างก่อนปี 40 และหลังปี 40 นั้น นายสุรธัส กล่าวว่า หากทำตามคำเรียกร้องดังกล่าว ทอท.จะต้องใช้เงินประมาณ 1.53 แสนล้านบาท แต่ถ้ายึดตามมติครม.เมื่อ 29 พ.ค.50 ทอท.จะใช้งบในการชดเชยครั้งนี้ประมาณ 1.36 หมื่นล้านบาท
ด้านนางกัลยา ผกากรอง รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ทอท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปยอดรวมในการจ่ายค่าชดเชยด้านผลกระทบทางเสียง แต่ยอมรับว่าเป็นเงินค่อนข้างมาก ซึ่งบริษัทต้องยอมรับที่จะดำเนินการในการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว โดยที่ผ่านมาได้มีมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ มาแล้ว
ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่นอกแนวเส้นเสียงระดับต่ำกว่า NES 40 ที่ออกมาเรียกร้องและระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น นางกัลยา กล่าวว่า อยากขอความเห็นใจเช่นกัน ทุกอย่างต้องอยู่บนกติกาไม่ได้อยู่ตามความรู้สึก ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาเจรจากับกลุ่มคนเหล่านี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการเจรจาในขั้นคณะกรรมการไตรภาคีจะสรุปได้เมื่อใด เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบ แต่จะพยายามให้จบเร็วที่สุด
"ต้องบอกว่าวันนี้ที่เขาได้รับเงินชดเชย ก็หมายถึงว่าเราได้ start แล้ว และมีความสุขที่ได้เห็นอย่างนั้น เข้าใจว่านักลงทุนก็เข้าใจและเตรียมใจกับปัญหานี้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ได้สอบถามมาตลอดว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเราก็ตอบว่าเราจัดการได้" นางกัลยา กล่าว
นางกัลยา ระบุว่า ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ทอท.จะต้องจ่ายค่าชดเชยเรื่องผลกระทบทางเสียงทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าใด ขณะเดียวกันยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากเงินมัดจำที่บริษัท คิงส์พาวเวอร์ จำกัด วางมัดจำไว้มูลค่า 2 พันกว่าล้านบาทว่าจะรับรู้รายได้ได้ทันในปีนี้หรือไม่ เพราะหากไม่ได้จะทำให้รายได้ของ ทอท.ปีนี้ต่ำกว่ารายได้ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ นางกัลยา กล่าวว่า ขณะนี้ ทอท. ได้ว่าจ้างบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 3 ราย เพื่อให้เข้ามาศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้าง แท็กซี่เวย์ ซึ่งคาดว่าใช้เงินประมาณ 61 ล้านบาท โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างเร็ว ธ.ค.นี้ หรือม.ค.51

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ