TALK: จับสัญญาณเตือน "ฟองสบู่" ตลาดหุ้นเกิดใหม่ยุคสมัย "ไบเดน"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 25, 2021 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 46 มาพร้อมกับวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายใต้ยุทธศาสตร์ "American Rescue Plan" ที่จะใช้กอบกู้เศรษฐกิจของสหรัฐฯให้กลับมาผงาดได้อีกครั้ง

นายชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บล.เคทีบีเอสที เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า การอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมากของประเทศสหรัฐฯในยุคของนายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ แม้ว่าจะเป็นตัวแปรผลักดันราคาสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลกจะขานรับในเชิงบวก โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) รวมถึงตลาดหุ้นไทยก็กำลังเป็นเป้าหมายที่เม็ดเงินต่างชาติจะเพิ่มน้ำหนักกระจายเข้ามาลงทุนมากขึ้น

แต่ด้วยนโยบายการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบครั้งใหญ่ในทางกลับกันก็อาจจะกลายเป็นสัญญาณความเสี่ยงเกิดปรากฎการณ์ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ในอนาคตได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่พบสัญญาณอันตรายของการก่อตัวภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่และคงจะไม่เห็นในปี 64 ทำให้ภาพแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์เสี่ยง มองเป็นโอกาสของผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากพออาจเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเป็น 80% ของพอร์ตลงทุน เพราะเบื้องต้นประเมินอัพไซด์ของตลาดหุ้นทั่วโลกปี 64 มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12-13% แต่อีกด้านหนึ่งคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากความผันผวนด้วย ดังนั้น การปรับพอร์ตเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสามารถรับผลตอบแทนตลอดทั้งปีเฉลี่ยมากกว่า 10%

ส่วนผู้ที่รับความเสี่ยงรองลงมาอาจจัดสัดส่วนลงทุนในตลาดหุ้น 50% และส่วนที่เหลือ 50% กระจายลงทุนในตราสารหนี้และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนตลอดทั้งปีเฉลี่ย 5%

ขณะที่ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำควรกระจายลงทุนในตลาดหุ้นไม่เกิน 20% และที่เหลือ 80%กระจายในตราสารหนี้และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะคาดหวังผลตอบแทนประมาณ 2-3%

"ประเทศพัฒนาแล้วยังมีเครื่องมือที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้การอัดเม็ดเงินเข้าระบบจำนวนมาก โดยเฉพาะในฝั่งของสหรัฐฯจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ส่งสัญญาณอ่อนค่า เพราะการเร่งตัวของตัวเลขหนี้สาธารณะ ขณะที่นโยบายรัฐบาลยุคโจ ไบเดน ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเร่งของหนี้สาธารณะ แต่ให้น้ำหนักไปกับการเร่งตัวเลข GDP ให้เติบโตเพื่อมาชดเชยระดับหนี้สาธารณะแทน

ผลที่ตามมาคือสกุลเงินของประเทศที่พิมพ์เงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ก็จะส่งสัญญาณแข็งค่า แม้ว่าจะดีต่อแนวโน้มของการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติระยะสั้น แต่ระยะถัดไปก็อาจจะกระทบภาพใหญ่ของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกและรายได้ท่องเที่ยว ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในระยะถัดไปจะเติบโตได้ทันกับราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้หรือไม่"นายชาตรี กล่าว

https://youtu.be/EjzG3Wifwi0


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ