บลจ.ไทยพาณิชย์เปิดขายกองทุนหุ้นเอเชียคัดหุ้นคุณภาพเน้นทำกำไร IPO 9-16 ก.พ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 9, 2021 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Asia Opportunity (SCB Asia Opportunity Fund : SCBAO) มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 9-16 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท เหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว ที่ต้องการลงทุนในหุ้นเอเชียเพื่อโอกาสการเติบโตของพอร์ตการลงทุน

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดเอเชียมีความน่าสนใจ มาจากการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำตลาดเอเชีย ทำให้มี GDP สูงขึ้น รวมถึงการที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นสภาพคล่องและการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในระยะที่ผ่านมา ประกอบกับดัชนี MSCI ACWI มีสัดส่วนหุ้นเอเชียค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ GDP ของเอเชียที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าหุ้นเอเชียมีโอกาสเติบโตได้ระยะยาว ดังนั้น การเลือกลงทุนในหุ้นเอเชียที่มีคุณภาพสูง จึงเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้สูงขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก

กองทุน SCBAO เป็นกองทุนบริหารเชิงรุก ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้ แก่ Morgan Stanley Investment Funds (MS INVF) Asia Opportunity Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน Z Accumulation ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บริหารโดย Morgan Stanley จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS กองทุน SCBAO มีวัตถุประสงค์สร้างผลตอบแทนระยะยาวจากการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และขยายตัวดีกว่าภูมิภาคอื่น ด้วยสัดส่วนประชากรที่มากถึง 58%จากประชากรทั้งหมด

จึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เน้นพอร์ตการลงทุนที่เป็น high-conviction ประมาณ 20 ? 40 ตัว ในหุ้นคุณภาพดีและเข้าซื้อในราคาที่น่าลงทุน รวมถึงมี turn over ในพอร์ตต่ำที่ประมาณ 20% -50% ต่อปี โดยเน้นการคัดเลือกหลักทรัพย์รายตัว (Bottom-up stock selection) ภายใต้กรอบการลงทุนที่ไม่ยึดติดน้ำหนักการลงทุนกับดัชนีอ้างอิง (Benchmark Agnostic) กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน

สำหรับกองทุนหลัก บริหารโดยทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การลงทุนยาวนานในหุ้นเอเชีย ภายในทีมมีการสนับสนุนความคิด พัฒนา และการสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิดการลงทุนระยะยาว 3 ?5 ปี คือจุดเริ่มต้นและรากฐานของการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับมุมมองที่แตกต่างและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของการลงทุน ซึ่งครอบคลุมหุ้นในทุกช่วงขนาด กลุ่มธุรกิจ และประเทศ ทั้งกระบวนการการลงทุนยังให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีข้อได้เปรียบทางธุรกิจอย่างยั่งยืนอีกด้วย

โดยจุดเด่นของกองทุนหลัก คือ การเน้นโอกาสทำกำไรจากหุ้นเอเชีย ด้วยวิธีการหาโอกาสการลงทุนจากการคัดหุ้นคุณภาพได้เปรียบการแข่งขันและทนทานต่อ disruptive change หุ้นที่โดดเด่นนอกเหนือจากในดัชนี หุ้นที่มีราคาน่าสนใจนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการประเมินมูลค่าหุ้น และคำนึงถึงมูลค่าหุ้นในระยะยาวมากกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ทั้งนี้ กองทุนหลักมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน อยู่ที่ 14.82% และ 1 ปี อยู่ที่ 51.80% เทียบกับดัชนีอ้างอิง MSCI All Country Asia ex Japan อยู่ที่ 18.60% และ 25.02% ตามลำดับ (ที่มา: Morgan Stanley ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563)

"ในปี 2564 นี้ ตลาดหุ้นเอเชียนับเป็นหนึ่งภูมิภาคที่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากตลาดหุ้นเอเชียน่าจะได้รับผลบวกจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ข่าวดีจากการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19, การเติบโตของ Semiconductor Cycle ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปอีก 3 - 4 ปีข้างหน้าท่ามกลางกระแสเทคโนโลยี 5G ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายลง ซึ่งมาตรการการแข่งขันทางการค้าของนาย โจ ไบเดน จะมีการเปลี่ยนรูปแบบจากมาตรการทางด้านภาษีไปสู่มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี และการรวมกลุ่มทางการค้าแทน ส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกปรับตัวดีขึ้น และเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นเอเชีย

ถึงแม้ว่าสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากนายโจ ไบเดน ยังคงสนับสนุนนโยบายที่จะกีดกัน Software, Applications รวมถึงเทคโนโลยี 5G ของบริษัทจีน อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยเหล่านี้ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นเอเชียยังคงมีความน่าสนใจสูงกว่ากว่าตลาดหุ้นโลก ไม่ว่าจะเป็นด้าน Valuation และด้านการขยายตัวของผลกำไร โดยคาดว่าผลกำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้ายังมีมุมมองบวกต่อเนื่อง อีกทั้งค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชียต่อเนื่อง" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ