BCP เผยแผนปี 64 หาโอกาสธุรกิจใหม่ทั้งใน-ตปท.หลังผลงานปี 63 รับพิษโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 19, 2021 07:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า ปี 64 คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยกำลังจะได้รับวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท หลังจากปรับโครงสร้าง เสริมสภาพคล่องให้แข็งแรง มีความพร้อมในการปรับตัว ขยายศักยภาพในการบริหารงานและการลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ พร้อมรุกไปข้างหน้าเต็มที่เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกธุรกิจ

นอกจากนี้ บริษัทยังไม่หยุดยั้งที่จะแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่ยังให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้บทบาทผู้นำนวัตกรรมสีเขียวเพื่อความยั่งยืน มุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจสีเขียวเป็น 40-50% ในปี 67

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 63 รายได้จากการขายและการให้บริการ 136,450 ล้านบาท ลดลง 28% เมื่อเทียบกับปีก่อน มี EBITDA 4,104 ล้านบาท ลดลง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมี Operating EBITDA 8,874 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องมาจากการที่กลุ่มบริษัทเผชิญกับความท้าทายทั้งจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากจนถึงระดับที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้งปัจจัยกดดันในเรื่องสงครามราคาน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีผลดำเนินงานเติบโตขึ้น จึงช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของผลการดำเนินงานในภาพรวม

ความผันผวนของราคาน้ำมันและการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกรวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบหนักสุดต่อธุรกิจในช่วงไตรมาส 2/63 แต่ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี จากการที่กลุ่มบริษัทฯ ได้พยายามลดผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานที่กระชับ คล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ มีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจและปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า ตลอดจนดำเนินมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและหารายได้เพิ่ม รวมทั้งให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่าย สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 900 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 63 ที่ต่ำกว่าปี 62 กว่า 30% ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Loss 4,743 ล้านบาท อีกทั้งมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สิน 2,375 ล้านบาท และการด้อยค่าตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) 891 ล้านบาท ส่งผลให้ปี 63 มีผลขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 6,967 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.50 บาท อย่างไรก็ดี จากการปรับโครงสร้างการลงทุน ใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สูงสุด พร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปี 64 ทำให้มีกระแสเงินสด ณ สิ้นปี 63 ที่ 21,651 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ