PODCAST: Weekly Highlight (1-5 มี.ค.) ผวา "บอนด์ยีลด์" มะกันพุ่งเร็ว ,หุ้นไทย-หุ้นโลกส่อแดงเดือดแค่ไหน ??

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 1, 2021 09:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (1-5 มี.ค.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2564

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (22-25 ก.พ.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,496.78 จุด ลดลง 0.25% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ ขานรับแรงกดดันจากตัวแปรการถูกลดน้ำหนักหุ้นไทยของดัชนี MSCI ที่มีผลอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ประกอบกับผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ได้พลิกกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว กดดันให้เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ทยอยไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้น เนื่องจากมีความวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อลดแรงเสียดทานของอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้นในช่วงถัดไป เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯครั้งใหญ่ในยุครัฐบาลของนายโจ ไบเดน

และจากการเร่งตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ เรียกว่ายังคงเป็นตัวแปรหลักสร้างแรงเหวี่ยงทิศทางขาลงให้กับดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ไว้ค่อนข้างกว้าง โดยมีฐานแนวรับสำคัญอยู่แถวๆ 1,460 จุด ส่วนกรอบบนจะอยู่แถวบริเวณ 1,520 จุด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองว่า กว่าที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะเร่งตัวขึ้นไปสู่เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจต้องใช้ระยะเวลาถึง 3 ปีด้วยกัน แต่ด้วยความเสี่ยงของภาพระยะสั้นนั้นก็คือ ในช่วงที่ผ่านมาราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรง ทำให้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มีส่วนต่างกำไรจากเงินลงทุน ดังนั้นหากตัวเลขผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯกลับมาเด้งขึ้นรวดเร็วแตะแถวๆ 1.50-1.75% ในช่วงเวลาสั้นๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนเข้าสู่การปรับฐานรอบใหม่ของตลาดหุ้นทั่วโลกได้เช่นกัน

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที ประเมินภาพรวม SET INDEX รอบสัปดาห์นี้มีความเสี่ยงเคลื่อนไหวผันผวน ตามตัวแปรหลักคือผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ได้ประเมินภาพการโยกย้ายเม็ดเงินในระยะกลาง หากตัวเลขเศรษฐกิจประเทศแถบเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวได้ดี จะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญสร้างแรงดึงดูดฟันด์โฟลว์ให้หวนกลับคืนเข้าสู่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้อีกครั้ง

บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดว่าตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีโอกาสแกว่งในกรอบแคบๆ จนถึงอ่อนตัวลงได้ โดยดัชนีมีแนวรับที่ 1,477 จุด และ 1,460 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,515 จุด และ 1,525 จุด US Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐปรับตัวขึ้นไว จากความคาดหวังบวกต่ออัตราเงินเฟ้อที่ถูกขับเคลื่อนด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้ตลาดกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลาย

ส่วนปัจจัยอื่นๆที่ต้องติดตามประกอบด้วย การประชุมโอเปกพลัสในวันที่ 3-4 มี.ค.นี้ ประเทศสมาชิกอาจจะหารือจำกัดการปรับลดกำลังการผลิตหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นแรง, จับตา การรายงาน PMI ภาคการผลิต 1 มี.ค. และ PMI ภาคบริการวันที่ 3 มี.ค.ของทุกประเทศ คาดสหรัฐจะฟื้นตัวดี แต่ยุโรป และอังกฤษจะยังอ่อนตัว

ส่วนปัจจัยในประเทศ การปรับประมาณการกำไรตลาดหุ้นไทยปี 2564-2565 เริ่มทรงตัว โดยการเคลื่อนไหวของ EPS ในเดือน ก.พ.กลุ่มที่ถูกปรับ EPS ขึ้นมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี บวก 6.7% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บวก 4.8% และกลุ่มเกษตร บวก 3.1% ขณะที่กลุ่มที่ถูกปรับ EPS ลงอย่างมีนัย มีเพียงกลุ่มขนส่ง ลบ 62.4% หลักๆ ถ่วงจาก AOT แต่ Returns ของกลุ่มไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนกลุ่มอื่นที่ปรับลด ได้แก่ กลุ่มโรงแรม ลบ -4.5% รับเหมาก่อสร้าง ลบ3.7% และอาหาร ลบ 2.9%

ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 29.80-30.30 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ. และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนม.ค. นอกจากนี้ตลาดอาจยังรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ

https://youtu.be/9Pi4wx0lvzg


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ