ก.ล.ต.ยันยังไม่เคาะเกณฑ์คุณสมบัติผู้ลงทุนคริปโทฯแค่วางตุ๊กตารอสรุปผลเฮียริ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 3, 2021 19:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในการเสวนา "เจาะทุกประเด็นการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทฯ" ว่า ก.ล.ต.ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ออกมาบังคับใช้ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการเปิดรับความเห็นที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่เปิดจนถึงขณะนี้มีผู้แสดงความเห็นมาแล้ว 6 พันราย

สำหรับหลักการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี เช่น คุณสมบัติด้านฐานะการเงินและ/หรือด้านความรู้ความเข้าใจเช่น มีรายได้ต่อปีไม่นับรวมกับคู่สมรส ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป หรือ มีสินทรัพย์สุทธิ (net worth) ตั้งแต่ 10 ล้านบาท โดยไม่นับรวมมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัยประจำ หรือ มีมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัล (port size) ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป

ขณะที่คุณสมบัติด้านความรู้ ต้องมีประสบการณ์ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี หรือ มีประสบการณ์ลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 2 ปีหรือเป็น professional ตามที่ ก.ล.ต.กำหนด ในกรณีผู้ลงทุนลักษณะอื่นที่ไม่เข้าข่ายข้อกำหนดข้างต้นต้องลงทุนผ่านผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Fund manager)เท่านั้น การเปิดบัญชีใช้บริการใหม่กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และผู้ลงทุนต้องผ่านการทดสอบความรู้ (knowledge test) ก่อน เป็นต้น

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า สาเหตุที่ ก.ล.ต.มีแนวคิดปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทฯ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงมาก ซื้อขายได้ทั่วโลกตลอด 24 ชม. 7 วัน รวมถึงในประเทศไทยเมื่อพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่น ๆ แล้ว และต่างประเทศก็มีแนวคิดออกมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติมทั้ง ฮ่องกง อังกฤษ อินเดีย และอีกหลายประเทศ รวมทั้งออกคำเตือนผู้ลงทนให้ระมัดระวังด้วย

นอกจากนั้น หลังจากติดตามสถานการณ์การซื้อขายในไทย พบว่าผู้ลงทุนรายใหม่ ๆ สนใจเข้ามาลงทุนในคริปโทฯ มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่อายุน้อย ซึ่งมีคนอายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 3% ของผู้ลงทุนในคริปโทฯ ทั้งหมด ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์การเงินอื่น แต่มีเพียงบางส่วนที่มีประสบการณ์ลงทุนในคริปโทฯ ก.ล.ต.จึงห่วงใยและพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ลงทุน รวมถึงออกคำเตือนผู้ลงทุนเพื่อให้ตระหนักในข้อเท็จริงเหล่านี้ พร้อมกับกำชับผู้ประกอบธุรกิจต้องให้ข้อมูลลูกค้าอย่างเหมาะสม ทำแบบประเมินความเสี่ยงด้วย

"เราเปิดรับฟังความเห็นหลังจากติดตามการแสดงความเห็นกันในโลกโซเชียล บางคนใช้คำว่าเป็นกฎหมาย บางคนใช้เป็นกฎเกณฑ์ แต่ยังไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการรับฟังควาเห็นที่เชิญชวนทุกคนมามีส่วนร่วม...การใช้หลักรายได้ หรือความรู้เป็นเพียงตุ๊กตาสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ มีข้อเสนอแนะอื่นหรือไม่ ปิดรับฟังในวันที่ 27 มี.ค.เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.พิจารณา"เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายระดมทุน ก.ล.ต. กล่าวว่า มูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกสูงขึ้นมาอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในเดือน พ.ค.61 มูลค่าอยู่ที่ 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ปี 62 ตกลงไปเหลือ 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และปี 63 เพิ่มเป็น 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และ ณ เดือน ก.พ.64 พุ่งไปเป็น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว ความผันผวนรุนแรงรวดเร็ว และมีคริปโทฯสัดส่วนสูงในสินทรัพย์ดิจิทัล

"ไม่มีใครรู้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของทคริปโทฯ เป็นเท่าไหร่ เพราะขึ้นกับคนทั่วโลกที่จะยอมรับหรือเห็นคุณค่า หรือพึงพอใจในตัวเหรียญ และทุกคนสามารถเข้าถึงซื้อขายได้ทุกที่ทุกเวลา ราคาไม่มีเพดานไม่มีเซอร์กิตเบรกเกอร์ ขึ้นกับดีมานด์ซัพพลาย ราคาที่เคลื่อนไหวขึ้นลงวันละ 20% หรือ 50% เป็นเรื่องปกติ บิทคอยน์เคยทำสถิติ 3 วัน ลดลง 83% มีความผันผวนและเสี่ยงสูงจริง ๆ"นางสาวจอมขวัญ กล่าว

เมื่อครั้งแรกที่ออก พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. มองว่าผู้ลงทุนคือแฟนพันธุ์แท้ที่รู้จักสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างดี จึงไม่ได้เน้นการคุ้มครองผู้ลงทุนเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่ามีการเปิดบัญชีของผู้ลงทุนเพิ่มจากสิ้นปี 62 อยู่ที่ 2 แสนกว่าบัญชี แต่ต้นปี 64 สูงไปถึง 4.8 แสนบัญชี และโปรไฟล์ผู้ลงทุนพบว่าอายุน้อย ๆ เข้ามาเล่นด้วยจึงไม่มั่นใจว่าผู้ลงทุนเป็นแฟนนพันธุ์แท้จริงหรือไม่

ก.ล.ต.ห่วง 2 ประเด็น คือ ความรู้ความเข้าใจของผู้ลงทุน ถ้าไม่เข้าใจคือความเสี่ยงมากที่สุด เพราะคริปโทฯเป็นสินทรัพย์ที่ผันผวนสูงมาก ผู้ลงทุนบางรายอาจจะเห็นคนอื่นลงทุนแล้วประสบความสำเร็จแล้วอยากรวยบ้างจึงลงทุนตามกระแส หรือกลัวว่าจะตกขบวน อยากรวยทางลัด ไม่ได้ศึกษาข้อมูลที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

และอีกเรื่องคือความสามารถในการรับความเสี่ยง ถือป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะผันผวนสูงมาก อาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือสูญเสียเงินต้นทั้งหมด ขณะที่บางรายอาจนำเงินร้อนไปลงทุน เช่น เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันต้องจับจ่ายใช้สอย หรือใช้เงินเก็บทั้งหมด โดยไม่กระจายความเสี่ยง หรือใช้เงินกู้

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ก็มีความกังวลว่าสิ่งที่ออกไปอาจทำให้เกิดผลกระทบโดยไม่คาดคิด เช่น นักลงทุนเห็นว่าทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ การปิดกั้น ผู้ลงทุนอาจจะหนีไปเทรดในต่างประเทศ ตลาดที่ไม่มีความคุ้มครอง จึงเปิดการรับฟังเห็นอย่างแท้จริง เพราะอยากเห็นอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างแข็งแรงและมั่นคง ซึ่งจะต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสม

นางสาวนภนวลพรรณ์ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต.ชี้แจงเกณฑ์เบื้องต้นที่ ก.ล.ต.กำหนดออกมา ในแง่ของประสบการณ์การซื้อขายคริปโทฯ ไม่ได้กำหนดระยะเวลา ขอเพียงเคยซื้อขายมาก่อนทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ และหากซื้อขายอยู่แล้ว แต่คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องขายทิ้ง แต่ไม่สามารถลงทุนใหม่ได้

นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาด ก.ล.ต.กล่าวว่า การกำหนดให้ผู้ลงทนทำการทดสอบ เพื่อต้องการให้รู้จักสิ่งที่กำลังลงทุนอยู่ ทั้งธรรมชาติตัวสินค้าที่ลงทุน เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงและผลตอบแทน และเรื่องที่เพิ่มเข้ามาคือเงื่อนไขการบริการ เพราะเคยมีข้อร้องเรียนจากผู้ลงทุนที่ไม่เข้าใจเงื่อนไข ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องสอบผ่านด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 80%

ทั้งนี้ ระหว่างการไลฟ์สดเสวนาในครั้งนี้ มีผู้ที่สอบถาม ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ได้แก่ เหตุใดจึงไม่ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับการลงทุนใน DW หรือตลาด TFEX ที่มีความผันผวนสูง , เสนอใช้เกณฑ์คุณสมบัติด้านฐานะว่ามีสินทรัพย์เท่าใดสามารถลงทุนได้เท่าใดแทนการกำหนดขั้นต่ำ 1 ล้านบาท, กังวลว่าอาจจะทำให้คนหนีไปลงทุนในตลาดมืด, เป็นการจำกัดสิทธิ ปิดกั้นผู้ลงทุน ไม่เป็นธรรม เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น, การกำหนดให้ลงทุนผ่านกองทุนเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางธุรกิจ, เสนอให้ใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานยืนยันอายุแทนใช้เกณฑ์รายได้, เมื่อ ก.ล.ต.ได้รับความเห็นไปแล้วควรมีวิธีการที่โปร่งใสด้วยการเปิดประชาพิจารณ์อีกครั้ง เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ