PODCAST: Weekly Highlight (8-12 มี.ค.) ฝุ่นตลบ!! หุ้นเทคฯกังวลบอนด์ยีลด์ หุ้นไทยแหล่งพักเงินที่ไม่ควรมองข้าม ?

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 8, 2021 09:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Weekly Highlight" สัปดาห์นี้ (8-12 มี.ค.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2564

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (1-5 มี.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,544 จุด เพิ่มขึ้น 3.16% จากสัปดาห์ก่อน ขานรับแรงซื้อในหุ้นกลุ่มบิ๊กแคป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มการท่องเที่ยวและโรงแรม ,กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มปิโตรเคมี เป็นต้น

สำหรับตัวแปรสำคัญที่ยังมีผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน ในตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้นประเด็นการเร่งตัวขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐ ที่ดีดตัวใกล้ 1.6% สร้างแรงกดดันให้เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่โยกย้ายเงินออกจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มที่เคยซื้อขายกันบน P/E สูง ก่อนจะโยกย้ายเงินลงทุนเข้าสู่หุ้นกลุ่มที่มี P/E ต่ำและกำลังจะได้รับประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสเร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกระยะถัดไป

จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังคงคาดการณ์ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากหุ้นที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทยเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เข้าข่ายเป็นแหล่งพักเงินชั้นดีในยามที่หุ้นเทคโนโลยีส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากแรงขายของผู้ลงทุนทั่วโลกที่กำลังตื่นตระหนกกับภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐเร่งตัวขึ้นมาในรอบนี้

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ ประเมินภาพรวมของ SET INDEX ในรอบสัปดาห์นี้มีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ประเมินแนวต้าน 1,566 จุด และแนวรับอยู่ที่ 1,530-1,500 จุด นอกเหนือจากปัจจัยสนับสนุนจากฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยแล้ว ยังมีปัจจัยบวกในประเทศ คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ภายหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ

ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสำหรับสัปดาห์นี้อยู่ที่ 30.20-30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางตลาดพันธบัตรสหรัฐ, รายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนด้วย

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.64 ที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และข้อมูลเบื้องต้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/63 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ก.พ. ของจีน ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนด้วยเช่นกัน

https://youtu.be/6PB8ul1lULM


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ