ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ BGRIM แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 31, 2021 18:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ที่ระดับ "A" พร้อมทั้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "A-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ลักษณะคล้ายทุนที่ระดับ "BBB+" ด้วย โดยที่แนวโน้มอันดับเครดิตยังเป็น "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลงานในการบริหารโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Cogeneration Power Plant) ที่ได้รับการยอมรับและการกระจายตัวที่หลากหลายเป็นอย่างดีของโรงไฟฟ้าของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนบางส่วนจากการที่โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีหนี้สินอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นผลมาจากการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่บริษัทขยายธุรกิจ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

-มีโรงไฟฟ้าที่กระจายตัวหลากหลาย บริษัทเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าจำนวน 48 แห่งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,058 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับ 1,938 เมกะวัตต์เมื่อคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนที่บริษัทถือหุ้น

บริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจำนวน 18 โครงการซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 68% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมของบริษัท โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมชั้นนำในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor -- EEC) และเมื่อเดือนมีนาคม 2563 บริษัทได้ซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 1 แห่งในจังหวัดอ่างทองซึ่งเพิ่มกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมของบริษัทอีก 86 เมกะวัตต์

ในขณะที่กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมอีก 32% มาจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จำนวน 22 แห่งในประเทศไทยกับอีก 2 แห่งในประเทศเวียดนาม และ 1 แห่งในประเทศกัมพูชา รวมทั้งจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 3 แห่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โรงไฟฟ้าดีเซลจำนวน 1 แห่งในประเทศเวียดนาม และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอีก 1 แห่งในประเทศไทย ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งหมดดังกล่าวไม่มีโรงใดเลยที่มีสัดส่วนกำลังการผลิตเกิน 15% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมของบริษัท

-กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ของบริษัทซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความน่าเชื่อถือสูง โดยในปี 2563 บริษัทมียอดขายกับลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัทคือ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วน 65% ของยอดขายรวม ส่วนรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมนั้นคิดเป็นสัดส่วน 23% ของรายได้ต่อปีของบริษัท ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ของไทย รวมถึงการไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos -- EDL) การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity -- EVN) การไฟฟ้ากัมพูชา (Electricite du Cambodge ? EDC) และลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก โดยมีอายุสัญญาประมาณ 21-25 ปี สัญญาดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงด้านการตลาดเนื่องจาก กฟผ. ตกลงรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจำนวน 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ายังมีกลไกส่งผ่านภาระค่าก๊าซเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาเชื้อเพลิงอีกด้วย

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัญญาซื้อขายไอน้ำกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมอีกหลายรายซึ่งกระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น โดยสัญญาดังกล่าวมีอายุระหว่าง 5-15 ปี ในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้าหรือไอน้ำสำหรับสัญญาที่มีกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมนั้นยังมีการระบุปริมาณรับซื้อขั้นต่ำอีกด้วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าจะอิงกับอัตราค่าไฟฟ้าของ กฟภ. ที่จำหน่ายให้แก่กิจการขนาดใหญ่ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft อย่างไรก็ตาม การปรับค่า Ft นั้นจะมีช่วงเวลาล่าช้า อีกทั้งจำนวนที่ปรับและระยะเวลาก็ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกด้วย นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทยังมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ บมจ. ปตท. (PTT) ระยะเวลา 21-25 ปีซึ่งเท่ากับอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่บริษัทมีกับ กฟผ. ด้วย

โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัทในประเทศไทยทุกโครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปีกับ กฟภ. และ กฟน. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer - VSPP) โดยได้รับอัตราค่าไฟฟ้าคงที่จำนวน 4.12-5.66 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามได้รับอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ที่ 0.0935 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงจาก EVN ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าอายุ 20 ปี และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศกัมพูชาได้รับอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ที่ 0.076 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงจาก EDC ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าอายุ 20 ปี

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่งของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ใน สปป. ลาว และมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ขนาด 25 เมกะวัตต์นั้นจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ EDL ภายใต้สัญญาระยะเวลา 25 ปี ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแต่ละโครงการของบริษัทมีอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ที่ 0.065 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

-โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมีผลการดำเนินงานที่ได้รับการยอมรับ บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและบริหารโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมโดยบริษัทมีบุคลากรของตนเองในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงประจำวัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทมีดัชนีความพร้อมอยู่ในระดับสูงเนื่องจากมีการหยุดซ่อมนอกแผนงานน้อยและอัตราความร้อนของโรงไฟฟ้าก็อยู่ในระดับที่ดีกว่าที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอีกด้วยเช่นกัน ในช่วงปี 2561-2563 ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าแต่ละแห่งของบริษัทมีค่าดัชนีความพร้อมอยู่ในช่วง 91%-100% ซึ่งดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวยังมีอัตราความร้อนที่ดีกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอีกด้วยเช่นกัน

หลังจากการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าของ บริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด บริษัทได้จัดการปรับเปลี่ยนโหลดไฟฟ้าใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า เป็นผลให้อัตราความร้อนของโรงไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 7,797 บีทียูต่อหน่วยในปี 2563 จาก 8,994 บีทียูต่อหน่วยในปี 2562

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทยังใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจากผู้ผลิตชั้นนำ เช่น Siemens และ GE Power (GE) ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแต่ละแห่งยังมีสัญญาบำรุงรักษาระยะยาว (Long-term Service Agreement -- LTSA) ที่มีอายุจนถึง 16 ปีเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเครื่องจักรจะมีความพร้อมในการเดินเครื่องตลอดเวลาและยังช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอีกด้วย

-ได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากโรคโควิด-19 ในปี 2563 ปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลง 8.5% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมที่ลดลง ซึ่งเกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) โดยลดลง 28% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 อย่างไรก็ตามปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 และปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ก็เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

-ผลการดำเนินงานของโครงการในต่างประเทศต่ำกว่าที่คาดเล็กน้อย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งในประเทศเวียดนามจำนวน 437 เมกะวัตต์เริ่มเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2562 ในปี 2563 โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 1,007 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) ให้แก่ EVN อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ EVN ลดลงประมาณ 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากมีการจำกัดการรับซื้อไฟฟ้าบางส่วนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563

-ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงขยายกำลังการผลิต ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนพัฒนาโครงการต่าง ๆ จำนวนมากตามแผนซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าทั้งแบบดั้งเดิมและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม

โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 5 แห่งมีกำหนดเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ภายในปี 2565 โรงไฟฟ้าทั้ง 5 โครงการจะพัฒนาภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP Replacement) ตามแผนนโยบายพัฒนาพลังงานแห่งชาติปี 2561 (Power Development Plan -- PDP2018) ซึ่งเป็นการต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของผู้ผลิตรายเล็กที่จะหมดอายุในช่วงปี 2560-2568 ออกไปอีก 25 ปี โดยที่ในสัญญาฉบับใหม่ กฟผ. จะลดจำนวนปริมาณสัญญาซื้อขายไฟฟ้าลงเหลือ 30 เมกะวัตต์จากเดิม 90 เมกะวัตต์ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้า 5 โครงการที่กล่าวมาแล้ว ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมอีก 2 แห่งได้ในปี 2566 ด้วย ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็กแบบไฮบริดในพื้นที่อู่ตะเภา จังหวัดระยองซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 4.1 พันล้านบาท

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นเป็น 9.26 หมื่นล้านบาทในปี 2566 จาก 6.1 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ ประมาณการอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทนั้นน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 69% ในปี 2565 จาก 61% ในปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอาจจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 6.9 เท่า อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 6 เท่าเมื่อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทุกโครงการเปิดดำเนินงานเต็มปีในปี 2567

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

-ในช่วงปี 2564-2566 ค่าดัชนีความพร้อมโดยเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 93%-98%

-ประมาณการรายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 4.5-5 หมื่นล้านบาทต่อปีโดยจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วง 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ประมาณ 27%-29%

-เงินสดในมือจะมีไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

-เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2564-2566

-ภาระหนี้ที่จะต้องชำระคืน (เงินกู้ยืมและหุ้นกู้) จะอยู่ที่ประมาณ 5.7-9.4 พันล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีการดำเนินงานที่ราบรื่นและจะสร้างกระแสเงินสดได้ตามแผน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการโครงสร้างเงินทุนให้สอดคล้องตามนโยบายของบริษัทที่กำหนดให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนทุนต้องน้อยกว่า 2 เท่า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากขึ้นในขณะที่โครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากกระแสเงินสดของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นต่ำกว่าที่ประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ หรือโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาล่าช้ากว่าที่คาด หรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนขยายกำลังการผลิตอย่างมากโดยการก่อหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ