ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร TISCO ที่ A- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 21, 2021 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะเครดิตของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการ (Non-operating Holding Company - NOHC) ของกลุ่มทิสโก้ซึ่งมีบริษัทลูกหลักหลายรายเป็นผู้ดำเนินกิจการ เช่น ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งบริษัทลูกรายสำคัญอื่น ๆ ที่ดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนและธุรกิจหลักทรัพย์

อันดับเครดิตของบริษัทต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้อยู่ 1 ขั้น เนื่องจากการที่บริษัทมีความด้อยสิทธิกว่าในเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดจากกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการรับเงินปันผลจากธนาคารทิสโก้ในสถานการณ์ที่ความกดดันได้อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • มีสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการ (NOHC) ของกลุ่มการเงิน

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการของกลุ่มการเงินโดยดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ผ่านธนาคารทิสโก้ (ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ "A/Stable") ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทเป็นเจ้าของทั้งหมดเป็นหลัก ในการนี้ ธนาคารทิสโก้เป็นผู้นำส่งกำไร สินทรัพย์ และส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ให้แก่กลุ่มทิสโก้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยพิจารณาจากงบการเงินรวมของกลุ่ม ทั้งนี้ สินทรัพย์รวมของธนาคารทิสโก้คิดเป็นสัดส่วน 96.2% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ สิ้นปี 2563

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักที่ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มอยู่ 1 ขั้น โดยความแตกต่าง 1 ขั้นนี้สะท้อนถึงการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้างของบริษัท กล่าวคือ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของบริษัทจะด้อยกว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของธนาคารทิสโก้ ในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่มีการดำเนินกิจการ บริษัทต้องพึ่งพารายได้เงินปันผลจากธนาคารทิสโก้เพื่อการชำระหนี้ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงในการได้รับการจ่ายเงินปันผลจากธนาคารทิสโก้อันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามในภาวะวิกฤติอีกด้วย

  • สัดส่วนแหล่งที่มาของรายได้มีการกระจายตัว

ทริสเรทติ้งประเมินสถานะทางธุรกิจของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปว่าสะท้อนให้เห็นถึงแหล่งรายได้ที่ค่อนข้างกระจายตัวซึ่งมาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจวาณิชธนกิจ และธุรกิจบริหารจัดการกองทุน อัตราส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิต่อรายได้รวมของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น ๆ โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 27.2% ในปี 2563 ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของบริษัทส่วนใหญ่ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมจากธุรกิจประกัน ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจบริหารจัดการกองทุน นอกจากนี้ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังคิดเป็น 30.7% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2563 อีกด้วย

  • อยู่ในตำแหน่งที่ดีในการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกองทุนอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเห็นได้จากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดที่ระดับ 16.5% ในกลุ่มนี้ ณ สิ้นปี 2563 ด้วยมูลค่าของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารอยู่ที่ 2.06 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

  • ฐานเงินกองทุนอยู่ในระดับแข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะรักษาระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งต่อไปได้ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของกลุ่มทิสโก้ยังคงอยู่ในระดับดีที่ 17.5% โดยคิดเป็น 79.3% ของเงินกองทุนทั้งหมด ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณภาพของเงินกองทุนที่อยู่ในระดับปานกลาง ในการนี้ สถานะเงินกองทุนของบริษัทได้รับแรงหนุนจากเงินกองทุนของธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่ม ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารทิสโก้จะอยู่ในช่วง 18%-19% ในระยะ 3 ปีข้างหน้าโดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่สินเชื่อของธนาคารจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในปี 2564 และจะเติบโตที่ระดับ 2% ในปี 2565-2566 โดยที่อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 50%-85% ของกำไรสุทธิของธนาคารในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า

  • หนี้สินอยู่ในระดับต่ำเมื่อพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะของบริษัท

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปจะยังคงรักษาระดับหนี้สินทางการเงินเฉพาะของบริษัทให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดย ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีหนี้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันระยะสั้นคงค้างจำนวน 1.6 พันล้านบาทตามงบการเงินเฉพาะของบริษัท เมื่อพิจารณาตามงบการเงินรวมของกลุ่มทิสโก้แล้ว สถานะเงินทุนของบริษัทสะท้อนถึงสถานะเงินทุนของธนาคารทิสโก้เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยเงินฝากจำนวน 2.05 แสนล้านบาท รายการหนี้สินระหว่างธนาคารจำนวน 5.5 พันล้านบาท รวมทั้งหนี้หุ้นกู้และเงินกู้ยืมจากธนาคารอีกจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2563

  • สภาพคล่องอยู่ในระดับเพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า เมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวมแล้ว บริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 18.7% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในปีก่อนหน้า โดยสินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยสินทรัพย์ระหว่างธนาคารจำนวน 3.8 หมื่นล้านบาทและเงินลงทุนสุทธิจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทเป็นหลัก

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับการดำเนินงานของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปเมื่อพิจารณาตามงบการเงินรวมในระหว่างปี 2564-2566 เป็นดังนี้

อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะคงตัวในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 2% หลังจากนั้น

ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 1.0%-1.1%

อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 3.8%-3.9%

อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะอยู่ที่ระดับ 18%-19%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ตลอดจนรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างผลกำไรในระดับสูง และมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งต่อไปได้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่บริษัทลูกสำคัญรายอื่น ๆ ในกลุ่มทิสโก้จะยังคงสามารถสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งให้แก่บริษัทต่อไปได้ด้วยอีกเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักที่ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มทิสโก้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้จึงมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วย การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกลุ่มที่มีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารทิสโก้และบริษัทอ่อนแอลงก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของบริษัทในเชิงลบด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ