ZoomIn: รพ.เอกชน เร่งวางแผนบริการฉีดวัคซีนโควิด"โมเดอร์นา"แต่ยังห่วงส่งมอบช้าอาจทำดีมานด์ลด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 14, 2021 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เกือบทุกแห่ง เร่งวางแผนให้บริการวัคซีนทางเลือกป้องกันโควิด-19 หลังจากโมเดอร์นาได้รับ การขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา (อย.) แล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ โดยคาดว่าจะสามารถนำเข้ามาได้ราวเดือน ต.ค.64 ซึ่งค่อนข้าง ช้า ทำให้เกิดความกังวลว่าหากภาครัฐเร่งกระจายวัคซีนอย่างหนักในขณะนี้อาจส่งผลทำให้ความต้องการวัคซีนทางเลือกลดลง จึงต้อง กำหนดปริมาณการสั่งซื้อวัคซีนให้เหมาะสม โดยอาจปรับลดลงจากแผนเดิมที่เคยเตรียมการไว้

นายธานี มณีนุตร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) เปิดเผยว่า จากการประชุมสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเมื่อวานนี้ (13 พ.ค. 64) ยังไม่มีความชัดเจนว่าวัคซีนโควิด- 19 ของโมเดอร์นาจะส่งมอบได้เมื่อใด ซึ่งหากยังเป็นไปตามกำหนดเดิมที่ตัวแทนจำหน่ายคาดการณ์ไว้คือไตรมาส 4/64 มองว่าอาจจะนาน เกินไป จึงมีความพยายามที่จะเร่งให้โมเดอร์นาส่งมอบให้เร็วขึ้น

แต่หากความพยายามดังกล่าวไม่เป็นผล และยังคงต้องมีการส่งมอบตามกำหนดเดิมในไตรมาส 4/64 อาจทำให้หลายๆ โรง พยาบาลจะลดปริมาณการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาลง ซึ่งปัจจุบันมีบางโรงพยาบาลก็ตัดสินใจปรับลดปริมาณการสั่งซื้อไปบ้าง แล้ว เพราะกังวลว่าหากรอไปจนถึงไตรมาส 4/64 ปริมาณผู้ที่ได้รับวัคซีนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังจากที่ภาครัฐ เร่งการฉีดวัคซีนในรูปแบบ Walk-in ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.อาจทำให้ความต้องการฉีดวัคซีนที่ประชาชนต้องจ่ายเงินเองมีลดลง หาก สั่งซื้อเข้ามามาก ก็อาจเป็นภาระกับโรงพยาบาลเอกชนเอง เพราะกำไรที่จะได้รับจากบริการดังกล่าวไม่ได้สูงมากนัก

"ตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าวัคซีนของโมเดอร์นาจะมาเร็วที่สุดได้ตอนไหน ถ้าไตรมาส 4/64 ก็จะนานไป เพราะคนได้รับ วัคซีนภาครัฐคงเยอะมากแล้ว โรงพยาบาลเอกชนจะสั่งซื้อในจำนวนที่แจ้งไปตอนแรกคงไม่ได้ ต้องปรับลดจำนวนการสั่งซื้อลง ซึ่งก็มีหลายๆ โรงพยาบาลเริ่มพิจารณาลดจำนวนแล้ว เพราะเอาเข้ามาเยอะมากตอนนั้นก็คงไม่คุ้ม เพราะจริงๆเราแค่อยากช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการ กระจายวัคซีนให้แก่ภาครัฐมากกว่า กำไรจากการให้บริการฉีดวัคซีนน้อยมาก ส่วนใหญ่กำไรมาจากการให้บริการรักษามากกว่า"นายธานี กล่าว

ทั้งนี้ เครือโรงพยาบาล PRINC คาดว่าจะมีการพิจารณาปรับลดปริมาณาการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา.นสัปดาห์ หน้า จากเดิมที่สั่งซื้อไป 100,000 โดส หลังจากที่ยังไม่มีความชัดเจนในการส่งมอบ ทำให้จะต้องมีการประเมินปริมาณที่เหมาะสมในการ สั่งซื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การรับวัคซีนของประชาชน และไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ เพราะกำไรจากการฉีดวัคซีนถือว่าน้อยมาก

การคิดราคาค่าวัคซีนจะเป็นราคาที่ทางสมาคมกำหนด แต่จะแตกต่างกันที่อัตราค่าบริการเท่านั้น ซึ่งการให้บริการวัคซีนโควิด- 19 บริษัทไม่คาดหวังกำไรมาก เพราะถือเป็นการช่วยภาครัฐในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนได้เร็วที่สุด เหมือนกับที่ปัจจุบันทางเครือ โรงพยาบาลพริ้นซิเพิลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการฉีดวัคซีนของภาครัฐกับประชาชนสูงอายุและกลุ่มเสี่ยง โดยมีค่าตอบแทนเพียง 20 บาท/ เข็ม

สำหรับอัตราค่าบริการวัคซีนโควิด-19 ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยังไม่ได้เคาะราคาที่แน่นอนออกมา เพราะยังไม่มีความ ชัดเจนจากตัวแทนจำหน่ายในเรื่องระยะเวลาการนำเข้า และ ราคาขายวัคซีน ประกอบกับการคิดอัตราภาษีต่างๆ ทำให้ยังไม่ได้มีการ เคาะราคาขายวัคซีนออกมา มีเพียงแต่ข้อตกลงเบื้องต้นในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ ว่าค่าวัคซีนจะต้องเป็นราคาเดียวกัน และใช้ประกันผลข้าง เคียงวัคซีนโควิด-19 รายเดียวกันทุกโรงพยาบาล แต่อาจจะมีอัตราค่าบริการแตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาชิก สมาคมฯ รับทราบแล้ว

นายบุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป (THG) กล่าวว่า โรงพยาบาลธนบุรีมีความต้องการให้นำ เข้าวัคซีนเข้ามาเร็วที่สุดในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งได้มีการติดต่อทางต้นทางวัคซีนในสหรัฐฯเพื่อขอแบ่งโควตาการนำเข้าวัคซีนให้เข้ามาก่อนอย่าง เร็วที่สุด จากกำหนดเดิมที่จะมีการส่งมอบไม่เกินเดือนต.ค. 64 เพราะมองว่าจะค่อนข้างช้าไป

"ตอนนี้ทางโรงพยาบาลก็ติดต่อไปทางต้นทางของโมเดอร์น่าโดยตรงเพื่อขอแบ่งโควตาให้วัคซีนเข้ามาก่อน หวังว่าอย่างเร็วที่ สุดจะเข้ามาได้ในเดือนมิ.ย.นี้ จากเดิมที่จะเข้ามาในเดือนต.ค.นี้ แต่ผมมองว่าถ้าต.ค.จะช้าไปหน่อย เป็นไปได้ก็อยากให้เขามาได้เร็วที่ สุด ซึ่งโรงพยาบาลธนบุรีเองก็มีการสั่งวัคซีนไปโดยตรงจำนวน 2 ล้านโดส มาให้บริการ"นายบุญ กล่าว

ด้านราคาให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของโรงพยาบาลธนบุรียอมรับว่าจะสูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆราว 500 บาท เพราะโรง พยาบาลจะนำเงินไปใช้ในการให้บุคคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญทำการศึกษาเรื่องวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกัน และผล ข้างเคียง เพื่อเป็นองค์ความรู้แก่วงการแพทย์ไทย โดยคาดว่าจะมีกำไรจากการให้บริการฉีดวัคซีนราว 100 บาท/โดส ส่วนราคาให้ บริการที่แน่นอนนั้นยังไม่สามารถระบุได้แน่นอน แต่ต้นทุนของวัคซีนโมเดอร์นาหากรวมภาษีทั้งหมดแล้วคาดว่าอยู่ที่เข็มละ 1,500 บาท/โดส

"ราคาที่แน่นอนยังไม่รู้ตอนนี้ แต่ของเราคงสูงกว่าคนอื่น 500 ล้านบาท เพราะเราต้องการนำเงินบางส่วนไปใช้ในการศึกษา ต่อสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ มีการศึกษาดูภูมิคุ้มกันและผลข้างเคียง ทำให้เรามีองค์ความรู้มากขึ้น"นายแพทย์บุญ กล่าว

ด้าน พญ.ชุติมา ปิ่นเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) เปิดเผยว่า การนำเข้าวัคซีนทางเลือก ทั้งหมด ทางโรงพยาบาลทั้งหมดจะดำเนินการผ่านสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการสำรวจความต้องการของสมาชิกสมาคมฯ แล้วว่าจะมีปริมาณการจองวัคซีนจำนวนเท่าใด แต่ด้วยบริษัทผู้นำเข้าวัคซีนทางเลือกยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสามารถนำเข้ามาได้เมื่อ ไหร่ ทำให้บริษัทยังไม่สามารถวางแผนงานดังกล่าวได้

ในส่วนของ CHG ก็ยกเลิกการจองวัคซีนทางเลือกที่เคยจองไว้ก่อนหน้านี้ไปทั้งหมดแล้ว พร้อมกับโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ในสมาคมฯ เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้นำเข้าวัคซีนยังไม่มีความชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้หากมีความชัดเจน โรงพยาบาลฯ ก็จะ ดำเนินการผ่านทางสามาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อนำมาจัดสรรให้กับลูกค้า โดยราคาค่าวัคซีนเบื้องต้นจะเท่ากันทุกโรงพยาบาลที่ 2 เข็ม ประมาณ 3,000 บาท

อย่างไรก็ตาม มองว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาค่อนข้างมีประสิทธิภาพดี โดยเฉพาะแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งจัดว่าดี มาก และปัจจุบันก็มีการนำสายพันธุ์ใหม่มาวิจัยและพัฒนาตัววัคซีนดังกล่าว ทำให้สามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยรัฐบาลมีแผนการฉีด วัคซีน AstraZeneca เข็มแรกให้กับประชาชน ภายในเดือนมิ.ย.-ก.ย.64 ประมาณ 70% ของประชากร และในเดือนต.ค.64 จะฉีด เข็มที่ 2

นายธีรพันธ์ ดิษยบุตร รองผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) กล่าวว่า ทางโรง พยาบาลยังคงรอความชัดเจนจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่รวบรวมปริมาณความต้องการนำเข้าวัคซีนเพื่อเสนอต่อองค์การเภสัชกรรม ตามขั้นตอนที่ประกาศจากภาครัฐ โดยทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการจองวัคซีนไปแล้วหลายยี่ห้อ ซึ่งล่าสุดมีเพียงโมเดอร์น่าที่ได้รับการอนุมัติ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อย่างไรก็ตาม จากการประสานงานกับทางผู้นำเข้าวัคซีน ทางโรงพยาบาลคาดว่าจะสามารถทยอยให้บริการฉีดวัคซีนทาง เลือกให้กับประชาชนได้ในไตรมาส 4/64 ส่วนราคาวัคซีนคาดว่าทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นผู้กำหนด เพื่อให้ประชาชนสามารถ เข้าถึงการฉีดวัคซีนทางเลือกได้อย่างทั่วถึง

ขณะที่ นายสิทธิวัฒน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาล อินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ (IMH) กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลมีความสนใจจะสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็น โมเดิร์นนา สปุตนิก วี (Sputnik V) หรือ ไฟเซอร์ ซึ่งในปัจจุบันยังคงรอความชัดเจนจากทางภาครัฐเรื่องของระยะเวลาในการนำเข้าวัคซีน รวมไปถึงราคาวัคซีนจากบริษัทผู้นำ เข้า โดยทางโรงพยาบาลจะพยายามกำหนดราคาที่เหมาะสมให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ทั้งนี้ IMH มั่นใจว่าจะมีลูกค้าให้ความสนใจค่อนข้างสูง เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่เข้มแข็งประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันมี ความสนใจในวัคซีนทางเลือกเป็นอย่างยิ่ง

ด้านแหล่งข่าวจากเชนโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง กล่าวว่า โรงพยาบาลคาดว่าจะเปิดให้บริการฉีดวัคซีนได้ในไตรมาส 3/64 แต่ยังคงต้องรอความชัดเจนเรื่องยี่ห้อวัคซีนที่จะนำมาให้บริการ ขณะที่ในส่วนของราคาวัคซีนแม้จะยังไม่ได้กำหนดชัดเจน แต่คาดว่า จะมีราคาไม่เกินโดสละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งอยู่ในช่วงราคาเดียวกันกับค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจโควิด-19

ปัจจุบันทางโรงพยาบาลได้เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยภาครัฐฉีดวัคซีนโควิดของซิโนแวกและแอสตร้าเซนเนก้าให้แก่ประชาชน เฉลี่ย ประมาณ 250 คนต่อวัน และหากมีวัคซีนทางเลือกเพิ่มเข้ามาก็จะทำให้มียอดผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงไม่สามารถประเมินยอดผู้ใช้ บริการวัคซีนทางเลือกได้ เนื่องจากต้องดูประสิทธิภาพของระบบการจองและระบบการติดตามประกอบด้วย

นายนัทธ์ เอื้ออารีมิตร ผู้จัดการศูนย์ลูกค้าต่างประเทศ บมจ.เอกชัยการแพทย์ (EKH) กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้ทำการ จองวัคซีนโมเดอร์นาผ่านทางองค์การเภสัช ประมาณ 2,000-4,000 โดส โดยยังคงรอความชัดเจนของช่วงเวลาในการนำเข้าวัคซีนจาก ทางภาครัฐ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงไตรมาส 3/64 และประมาณการราคาวัคซีนอยู่ที่ 2,000-3,000 บาทต่อโดส

สำหรับแผนในอนาคตหากโรงพยาบาลฯ ได้รับวัคซีนทางเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเปิดรับการจองฉีดวัคซีนผ่านช่องทางออ นไลน์ของโรงพยาบาลเป็นหลัก เช่น Facebook หรือ Line official อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้ช่วยภาครัฐ ดำเนินการฉีดวัคซีนซิโนแวกให้กับประชาชนประมาณ 2,000 คนแล้ว ซึ่งถ้าหากมีวัคซีนทางเลือกเพิ่มเข้ามา คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากขึ้น เพราะในปัจจุบันทางผู้บริโภคได้ติดต่อสอบถามเรื่องวัคซีนทางเลือกเข้ามาเป็นจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ