SAK วางเป้าดันพอร์ตสินเชื่อแตะ 1.2 หมื่นลบ.ในปี 66 จากปีนี้ 8.4 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 14, 2021 18:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิวพงศ์ บุญสาลี ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปี 64 ไว้ที่ 8,400 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นแตะ 12,000 ล้านบาทภายในปี 66 โดยปัจจุบันมียอดพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 6,811 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายสาขาครบ 200 สาขาครบตามแผนในปีนี้ตั้งแต่เดือน พ.ค.64 เพื่อมุ่งสู่ 1,119 สาขาในปี 66 โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 719 สาขาเพื่อที่จะให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเปิดสาขาใหม่ 200 สาขา โดยตั้งแต่เดือนก.พ.-พ.ค. มีจำนวนลูกค้าใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสาขาเดิมที่เปิดให้บริการเพิ่มในปีที่แล้ว 100 สาขา สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และแม้จะเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 แต่ก็ยังไม่ส่งผลต่อการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อมากนัก และในไตรมาส 2/64 คาดว่าพอร์ตสินเชื่อจะเติบโตได้อีก เนื่องมาจากปัจจัยในการเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกและการเปิดเทอม และในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นการเตรียมงานสำหรับขยายสาขาเพิ่มในปี 65

ในปีนี้บริษัทยังมั่นใจว่าจะควบคุมระดับ NPL ให้อยู่ที่ประมาณ 2-2.5% ได้ ซึ่งสัดส่วน NPL ในปัจจุบันอยู่ที่ 2.1% ลดลงจากสิ้นปี 63 ซึ่งอยู่ที่ 2.2% และบริษัทมีสัดส่วนพอร์ตลูกหนี้ดี (ค้างชำระไม่เกิน 1 เดือน) สูงถึง 94% เป็นผลมาจากบริษัทมีการแบ่งความรับผิดชอบที่เป็นระบบ โดยมอบหมายให้แต่ละสาขาซึ่งอยู่ในพื้นที่และมีความใกล้ชิดกับลูกหนี้ ติดตามการชำระหนี้ของลูกหนี้ชั้นดีไปจนถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน และหลังจากนั้นหากพบลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน จะมีการส่งทีมจากสำนักงานใหญ่เข้าไปให้คำปรึกษาและดูแลจัดการเรื่องหนี้ นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้นำข้อมูลของลูกหนี้ที่ได้จากการติดตาม มาให้ Feedback กับผู้ให้บริการสินเชื่อ จึงทำให้เกิดการควบคุมที่ดีและต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจประกันวินาศภัยที่เปิดให้บริการเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีการขายกรมธรรม์ได้ประมาณ 50-60% ของจำนวนสาขาทั้งหมดที่มี เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตตัวแทน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การเดินทางและการตรวจสอบเป็นไปได้ยาก ปัจจุบันบริษัทกำลังปรับปรุงช่องทางการขาย เพื่อที่จะสร้างรายได้ให้มากขึ้น

ปัจจุบันทางบริษัทใช้การบริหารจัดการแบบ Cluster โดย 1 สาขาจะคอยควบคุมดูแล 7-10 หน่วยให้บริการย่อย เพื่อการเข้าถึงลูกค้าในพื้นที่ และการ Set Up อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริงและยังมีโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับการให้บริการสินเชื่อ โดยทยอยนำเข้ามาใช้งานในเดือนมี.ค. และน่าจะใช้ได้ครบทั้งระบบในไตรมาส 2/64 ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย

1) Digitalization : เป็นการบันทึกข้อมูลและเอกสารแบบ Paperless รวมไปถึงการยืนยันตัวตนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการตรวจสอบและอนุมัติสินเชื่อ และยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

2) Mobile Application : เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระ-จ่ายเงินสินเชื่อ โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายของธนาคาร รวมไปถึงการเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการรับข่าวสารและตรวจสอบข้อมูลอีกด้วย

3) Data Analysis : นำข้อมูล ประวัติ และพฤติกรรมของลูกค้าในอดีตมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อ การติดตามหนี้ และการประเมินความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/64 มีรายได้อยู่ที่ 394 ล้านบาท ลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 417 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิ 119 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 103 ล้านบาท

ในขณะที่พอร์ตสินเชื่อไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 6,811 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 6,437 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ที่มีหลักประกัน 86% และลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 14% โดยสามารถจำแนกประเภทสินเชื่อได้เป็น สินเชื่อทะเบียนรถเป็นประกัน 3,593 ล้านบาท สินเชื่อเกษตร 2,016 ล้านบาท สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 777 ล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อ 232 ล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคล 193 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ