ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกัน EA ที่ AA+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 10, 2021 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (EA) ที่ระดับ "A" และคงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "A-" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทที่ระดับ "AA+" ด้วย โดยหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทได้รับการค้ำประกันโดยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "AA+/Stable" จากทริสเรทติ้ง

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แข็งแรงจากโรงไฟฟ้าของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) รวมถึงผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอของโรงไฟฟ้าดังกล่าว และสถานะทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงในการดำเนินงานและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • กระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัทนั้นยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความเข้มแข็งด้านเครดิตของบริษัท โดยบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ระดับ 664 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์จำนวน 4 โครงการโดยมีกำลังการผลิตรวม 278 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังลม 2 โครงการซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 386 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทได้เริ่มดำเนินการผลิตอย่างเต็มที่มาตั้งแต่ปี 2562 โดยสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60%-70% ให้แก่กลุ่ม

กระแสเงินสดที่ได้จากโครงการโรงไฟฟ้านั้นมีจำนวนมากและสามารถคาดการณ์ได้โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้รับซื้อไฟฟ้าที่แข็งแกร่งซึ่งประกอบด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวช่วยปิดความเสี่ยงด้านอุปสงค์และช่วยป้องกันบริษัทจากผลกระทบจากการขึ้นลงของสภาวะเศรษฐกิจได้ ในขณะที่ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่อยู่ในระดับต่ำของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลมยังเป็นปัจจัยสนับสนุนความมั่นคงในการสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับส่วนเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้า (Adder) เป็นเวลา 10 ปีซึ่งจะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดและอัตรากำไรให้แก่บริษัทจนกว่าส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะหมดอายุลงอีกด้วย

  • ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังลมในปี 2563 ต่ำกว่าเป้า ปริมาณการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัทลดลงเล็กน้อยในปี 2563 อันเป็นผลมาจากความเร็วลมที่ต่ำในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ ทั้งนี้ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังลมของบริษัทต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งประมาณ 15%-17% อย่างไรก็ตาม ปริมาณไฟฟ้าที่ลดลงดังกล่าวก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์

ปริมาณไฟฟ้าที่บริษัทผลิตได้ทั้งหมดในปี 2563 อยู่ที่ 1,353 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ลดลง 2.5% จากตัวเลขในปี 2562 ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ปริมาณฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ของบริษัทอยู่ที่ 361 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นประมาณ 2% จากจำนวน 353 กิกะวัตต์ชั่วโมงในช่วงเดียวกันของปี 2563 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ของบริษัทน่าจะถึงระดับ 1,430-1,480 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2564 ตามประวัติค่าเฉลี่ยความเร็วลมในอดีต

  • ปริมาณไฟฟ้าน่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2565 เมื่อพิจารณาจากแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้อยู่มาเป็นแผงโซลาร์เซลล์แบบสองหน้า (Bifacial) สำหรับโรงไฟฟ้า 2 แห่งในจังหวัดลพบุรีและนครสวรรค์โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 2.8 พันล้านบาท การเปลี่ยนแผงดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้และน่าจะส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10%-15% ทั้งนี้ เมื่อการติดตั้งแผงชนิดใหม่แล้วเสร็จ ทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3%-4% ในปี 2565 โดยหากผลการเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์นี้เป็นที่น่าพอใจ บริษัทก็จะวางแผนเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อื่นๆ ที่เหลืออยู่ต่อไป
  • นโยบายภาครัฐช่วยเร่งอุปสงค์ในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า นโยบายของรัฐบาลไทยในการเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นได้เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทโดยสะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตในระยะยาวสำหรับธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และธุรกิจรถไฟฟ้าของบริษัท ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับเป้าหมายให้เร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ที่ระดับ 50% ของการผลิตรถยนต์ใหม่ภายในปี 2573 และให้ถึง 100% ภายในปี 2578 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมถึง 5 ปี ทั้งนี้ ภายใต้แผนดังกล่าว การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทยคาดว่าจะถึงระดับ 1.05 ล้านคันภายในปี 2568 และ 6.22 ล้านคันภายในปี 2573 จากประมาณ 0.21 ล้านคันในปี 2563

ทริสเรทติ้ง มองว่าการที่บริษัทได้เข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าก่อนผู้ประกอบการรายอื่นนั้นช่วยทำให้บริษัทได้ประโยชน์จากแนวโน้มวงจรขาขึ้นของอุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น โดยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทนั้นมีความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยประกอบด้วยโรงงานแบตเตอรี่ขนาดกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า ธุรกิจให้บริการขนส่งด้วยเรือไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีกกว่า 400 แห่ง ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายแรกๆ ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะมีความได้เปรียบและได้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของธุรกิจซึ่งอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการขยายความรู้ด้านเทคนิคและขอบเขตของการให้บริการในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพแวดล้อมที่ท้าทายและความเสี่ยงที่หลากหลายยังคงสร้างความกดดันให้แก่ธุรกิจใหม่ของบริษัท ทั้งนี้ การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงจากการเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกหลายรายหรือผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่กว่า ในขณะที่ความเสี่ยงที่สำคัญอื่นๆ สำหรับธุรกิจใหม่นี้ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว แนวโน้มราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง และอุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้าที่อาจจะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)

  • รายได้จากรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเริ่มในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปี 2564 โดยเริ่มจากการจำหน่ายรถโดยสารไฟฟ้า ปัจจุบันโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของบริษัทที่มีความจุ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบและมีกำหนดเริ่มเดินเครื่องในเดือนมิถุนายนปีนี้ โดยแบตเตอรี่ที่ผลิตได้จะใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ที่บริษัทผลิตเองเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็คาดว่าโรงงานประกอบรถโดยสารไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 3,000 คันต่อปีจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ บริษัทได้รับคำสั่งซื้อสำหรับการส่งมอบรถโดยสารไฟฟ้าจำนวน 500 คันให้แก่บริษัทผู้ให้บริการรถโดยสารเอกชนรายหนึ่ง โดยบริษัทจะส่งมอบรถได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเข้าร่วมประมูลเพื่อจัดจำหน่ายรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 2,500 คันและการบริการด้านการบำรุงรักษาให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อีกด้วย

ทริสเรทติ้งมองว่าความสำเร็จของบริษัทในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่จะขึ้นอยู่กับการสร้างความไว้วางใจในคุณภาพของแบตเตอรี่และการได้รับคำสั่งซื้อที่เพียงพอเพื่อใช้กำลังการผลิตของโรงงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่การเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์หรือลูกค้ารายใหญ่เพื่อให้ได้สัญญาซื้อขายระยะยาวจะมีความสำคัญต่อแนวโน้มของธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ในอนาคตอีกด้วย

  • คาดว่าฐานะการเงินจะฟื้นตัว สถานะทางการเงินของบริษัทนั้นอ่อนแอลงเล็กน้อยในปี 2563 อันเนื่องมาจากกระแสเงินสดที่ลดลงในขณะที่บริษัทมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงการการผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2563 อยู่ที่ 9.3 พันล้านบาท ลดลงประมาณ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเนื่องมาจากไฟฟ้าที่ผลิตได้มีปริมาณลดลงและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจใหม่ ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้ทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 เท่าในปี 2563 จาก 3.4 เท่าในปี 2562

ในช่วงปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานะการเงินของบริษัทน่าจะฟื้นตัวหลังจากโครงสร้างหลัก ๆ ของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทแล้วเสร็จในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าเงินลงทุนรวมของบริษัทจะอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาทในปี 2564 และจะลดลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่งในช่วงปี 2565-2566 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรหลักต่อไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนรายได้จากธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้านั้นจะเพิ่มขึ้นแต่เชื่อว่าผลกำไรยังไม่น่าจะมีสาระสำคัญต่อกลุ่ม ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะยังคงอยู่ในช่วง 1.05-1.15 หมื่นล้านบาทต่อปีซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 4 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิน่าจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับประมาณ 20%

  • สภาพคล่องอยู่ในระดับที่จัดการได้ ในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งประเมินว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทจะเพียงพอสำหรับความต้องการในการใช้จ่ายต่างๆ โดยแหล่งที่มาของเงินทุนจะประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดมูลค่ารวม 4.78 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 พันล้านบาท ในขณะที่การใช้เงินทุนของบริษัทจะเป็นไปเพื่อการชำระคืนเงินกู้ธนาคารจำนวน 2.3 พันล้านบาท การจ่ายเงินปันผลจำนวน 1.1 พันล้านบาท และการลงทุนจำนวน 6.5 พันล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหนี้หุ้นกู้มูลค่า 4 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้
  • สถานะเครดิตของผู้ค้ำประกัน อันดับเครดิตองค์กรของธนาคารไทยพาณิชย์สะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันในฐานะที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทยในด้านของสินทรัพย์ ตลอดจนการมีธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่แข็งแกร่ง และโครงสร้างรายได้ที่มีการกระจายตัวเป็นอย่างดี นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังคำนึงถึงเงินกองทุนที่เข้มแข็ง และความสามารถในการรองรับการตั้งสำรองในระดับสูง (capital buffer) รวมถึงสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง และการบริหารความเสี่ยงที่อยู่ในระดับเพียงพออีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2-2.6 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2564-2566
  • กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 1.05-1.15 หมื่นล้านบาท ต่อปีในช่วงปี 2564-2566
  • ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 3.5 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของกำไรสุทธิ

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่ากระแสเงินสดที่มั่นคงจำนวนมากของบริษัทจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นแหล่งกระแสเงินสดหลักให้แก่กลุ่ม ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานะทางการเงินของบริษัทจะฟื้นตัวและสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง หลังจากที่ธุรกิจใหม่เริ่มสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้แก่บริษัทในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีค่อนข้างจำกัดในระยะปานกลางเนื่องจากความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถขยายฐานกระแสเงินสดได้อย่างมีสาระสำคัญในขณะที่ยังสามารถรักษาสถานะทางการเงินที่ดีเอาไว้ได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนที่ใช้เงินกู้อย่างเกินตัวหรือมีการขาดทุนอย่างมากจากการดำเนินโครงการใหม่ ๆ ของบริษัท

อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกันคือธนาคารไทยพาณิชย์แต่เพียงประการเดียว โดยอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้มีการค้ำประกันดังกล่าวอาจได้รับการทบทวนใหม่หากอันดับเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ