SCGP เผยปีนี้ภาพรวมบรรจุภัณฑ์ฟื้นตัว แต่มีอุปสรรคจากต้นทุนเพิ่ม-ค่าระวางเรือสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 11, 2021 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลเชฎฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยว่าภาพรวมธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปีนี้มีทิศทางการฟื้นตัวและเติบโตได้ แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหลายประเทศเร่งฉีดวัคซีนโดยเฉพาะประเทศแถบอาเซียน ขณะที่ต้นทุนการดำเนินการในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจาก Commodity Cycle มีทิศทางขาขึ้น ทั้งค่าพลังงาน เศษกระดาษ เม็ดพลาสติก และต้นทุนที่ปรับขึ้นชั่วคราว คือ ค่าระวางเรือที่ปรับขึ้นไปสูงและตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ตั้งแต่ปลายปี 63 ทำให้ต้นทุนในไตรมาส 1/64 และไตรมาส 2/64 ค่อนข้างสูงแต่ทิศทางค่อยๆดีขึ้น

นอกจากนั้นในไตรมาส 2/64 ยังมีวันหยุดทำการมากทั้งในไทยและอินโดนีเซีย ทำให้จำนวนวันทำการลดลงทำให้การผลิตแทบไม่ทันกับความต้องการที่เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และความต้องการจากเมืองจีน โดยภาพรวมบรรจุภัณฑ์เติบโตตามธุรกิจ E-Commerce , เครื่องดื่ม เป็นต้น

บริษัทฯยังคงคาดการณ์รายได้ในปี 64 มากกว่า 1 แสนล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 9.33 หมื่นล้านบาท และงบลงทุนปีนี้ ตั้งไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาทที่นำไปลงทุน Go-Pak จำนวน 4,500 ล้านบาท และ การเข้าซื้อกิจการ M&P (Merger&Partnership) ประมาณ 9,000 ล้านบาท การขยายกำลังการผลิต 1,500 ล้านบาท รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต, ESG และ งบนวัตกรรม รวมประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยในไตรมาส 1/64 ได้ใช้ไป 1 ใน 4 ซึ่งเป็นไปตามแผน

นายกุลเชฏฐ์ กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มีการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการกับพันธมิตร (M&P) จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ SOVI โรงงานกล่องบรรจุภัณฑ์ในประเทศเวียดนาม, Go-Pak หนึ่งในผู้นำการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารรายใหญ่ในแถบสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเวียดนาม

อีก 2 ดีล คือ ดีลซื้อกิจการ Intan Group เป็นหนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกในอินโดนีเซีย และดีลเข้าซื้อ Duy Tan ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (Rigid Packaging) ชั้นนำในเวียดนามเวียดนาม ซึ่งทั้งสองดีลคาดจะปิดดีลได้ใน 1-2 เดือนนี้ โดยทั้ง 4 กิจการจะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท 1.4 หมื่นล้านบาท/ปี โดยเริ่มทยอยเข้ามาในปีนี้

"ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าบริการและช่วยขยายฐานลูกค้าหรือตลาดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน ทั้ง 4 M&P นี้เป็นกิจการระดับกิจการชั้นนำในแต่ละประเทศหรือในตลาดที่เขาดำเนินการมาหลายสิบปี มีอัตราการเติบโตที่ดี อัตราการทำกำไรที่ดี เรียกว่าเราไปควบรวมกับกิจการที่ดีและมีอนาคต และคงเน้นเรื่องต่อยอด และ synergy และการเร่งการเติบโตในอนาคต"

ขณะที่การขยายกำลังการผลิต 5 โครงการเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ในไทย ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปที่ แล้วเสร็จเมื่อมี.ค.64 ในอินโดนีเซีย ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ แล้วเสร็จ เม.ย.64 ซึ่งทั้งสองโครงการมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 20-30% ส่วนที่กำลังดำเนินการได้แก่ในฟิลิปปินส์ ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ เพิ่มขึ้นเท่าตัวคาดเปิดได้ในไตรมาส 4/64 ในไทย ขยายบรรจุภัณฑ์ Packaging paper เพิ่มขึ้น 20% คาดเปิดในไตรมาส 4/64 และโครงการขยายกำลังการผลิต Foodservice pacakaging ในไทยและเวียดนาม เพิ่มอีก 30% โดยทั้ง 5 โครงการจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี โดยคาดว่าปีนี้รับรู้รายได้ 2-3 พันล้านบาท

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีการเจรจาพูดคุยพันธมิตร หรือ M&P อยู่หลายโครงการ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโต ซึ่งจะมีการบริหารและวางแผนร่วมกันพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจขยายตลาดใหม่และขยายฐานลูกค้า

"เราไม่ได้มองซื้อของถูก หรือไล่ซื้อเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาด แต่เราเข้าซื้อจากที่ตั้งต้นว่าสร้าง synergy มีประโยชน์ win win อย่างไร ทั้งลูกค้าใหม่ สินค้าใหม่เพิ่มเข้ามา ได้เทคโนโลยี โนว์ฮาว บางส่วนหรือการเพิ่ม Scale หรือ เพิ่ม efficiency ต้นน้ำปลายน้ำ ซึ่งเราจะประเมินตั้งแต่ต้นก่อนที่จะเจรจาดีล หรือช่วงใกล้ๆปิดดีล แล้วถึงจะมีการทำแผนคู่กับกิจการที่เราจะ M&P เข้ามา พวกนี้เราให้ความสำคัญ และกิจการที่เราซื้อมาเป็นกิจการที่ดี มีกำไร แล้วมาต่อยอด"นายกุลเชฏฐ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ