ฟิทช์ให้อันดับเครดิตหุ้นกู้มูลค่า 3 หมื่นลบ.ของ BAY ที่ A+(tha)

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 25, 2007 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) แก่หุ้นกู้ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปีพ.ศ. 2553 และหุ้นกู้ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปีพ.ศ. 2554 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ระดับ ‘A+(tha)’ โดยหุ้นกู้แต่ละชุดมีมูลค่าไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ตัวธนาคารเองมีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก 
แม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ BAY ยังคงอ่อนแอ แต่ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคารและสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่คาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นในปี 2551 รวมถึงการสนับสนุนทางด้านการดำเนินธุรกิจและการเงินจากทาง GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) ซึ่งในขณะนี้ถือหุ้น BAY อยู่ 35% คาดว่าจะส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคารดีขึ้นได้ในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวและความไม่แน่นอนทางการเมืองมีระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อการขยายสินเชื่อและคุณภาพของสินทรัพย์ของธนาคารได้
การเพิ่มทุนที่เกิดขึ้นในปี 2550 ทำให้ BAY สามารถจัดการกับปัญหาการกันสำรองหนี้สูญและระดับของเงินกองทุน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเป็นปัจจัยกดดันต่ออันดับเครดิตของธนาคาร การเข้ามาของ GECIH น่าจะทำให้การดำเนินธุรกิจธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยของ BAY ขยายตัวได้มาก GECIH ได้ส่งตัวแทนเข้ามาทั้งในระดับคณะกรรมการธนาคารและคณะผู้บริหารระดับสูงใน BAY ซึ่งรวมถึงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer) และประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (Chief Financial Officer)
นอกจากนี้ BAY ยังน่าจะได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของ GECIH ในด้านการบริการทางธุรกรรมระดับสากล ด้านเทคโนโลยี และด้านการปฏิบัติการ การดำเนินธุรกิจธนาคารที่เปลี่ยนมามุ่งเน้นลูกค้ารายย่อยซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่าน่าจะช่วยให้ผลกำไรของธนาคารปรับตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง ถึงแม้จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของผลกำไรที่มีสูงขึ้นด้วยก็ตาม
BAY รายงานผลขาดทุนจำนวน 4.9 พันล้านบาท สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2550 เนื่องจากมีการกันสำรองหนี้สูญที่สูงขึ้นอย่างมากเป็นจำนวน 9.8 พันล้านบาทและการขาดทุนที่เกิดขึ้นในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้เป็นจำนวน 2.1 พันล้านบาท ระดับของหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 5.92 หมื่นล้านบาท หรือ 13.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ถึงแม้ว่าธนาคารจะมีอัตราส่วนของการกันสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่แข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 54% แต่อัตราส่วนดังกล่าวยังคงต่ำกว่าธนาคารบางแห่ง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่อาจต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ขณะที่ BAY คาดว่าการกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมในอนาคตไม่น่าจะอยู่ในระดับที่สูง ฐานเงินทุนของธนาคารมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมได้ในระดับค่อนข้างสูง หลังจากที่มีการเพิ่มทุนจำนวนมากในปี 2550 อัตราส่วนเงินกองทุนรวมและเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ BAY ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ20.3% และ 15.6% ตามลำดับ อัตราส่วนเงินกองทุนดังกล่าวคาดว่าจะลดลงมาที่ระดับ 17% และ 13% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2550 หลังจากที่การเข้าซื้อธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ของ GE Capital Auto Lease โดย BAY เสร็จสิ้น ทั้งนี้ลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อจำนวน 9.4 หมื่นล้านบาทส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อประเภทรถยนต์มือสองและรถจักรยานยนต์ การกันสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตขึ้นของสินเชื่ออาจทำให้อัตราส่วนเงินทุนของธนาคารลดลงไปอีก แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย โดยมีสาขาทั้งสิ้น 568 สาขา ส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อและส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากอยู่ที่ 10% ธนาคารมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจบริหารกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อ เนื่องจากธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากและสินเชื่อในสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ