AOT เสนอรฟท.เช่าใช้อุโมงค์-สถานีรถไฟฟ้าแทนชำระคืนค่าก่อสร้าง 4 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 25, 2007 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)ยื่นข้อเสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เช่าอุโมงค์และสถานีรถไฟฟ้าโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแทนการชำระคืนค่าก่อสร้างมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท ขณะที่รฟท.เผยรัฐบาลอนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้วแต่ขอเวลาอีก 2 สัปดาห์พิจารณาความคุ้มค่าการลงทุนก่อน 
"การรถไฟฯขอไปพิจารณาความคุ้มค่าการลงทุนระหว่างการเช่ากับการชำระเงินคืนค่าก่อสร้างรวดเดียว แล้วให้เสนอผลการพิจารณากลับมาให้ภายใน 2 สัปดาห์" นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังประชุมติดตามการดำเนินโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ตลิ้งค์)
โครงการนี้มีค่าก่อสร้างประมาณ 3,892 ล้านบาท หลังหักค่าก่อสร้างในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกที่ AOT ก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิออกไป 200 ล้านบาท เพราะไม่เกี่ยวกับการเดินรถและค่าดอกเบี้ยจ่าย ซึ่ง รฟท.ต้องคิดว่าทางเลือกใดดีที่สุด
"ส่วนตัวเห็นว่าโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังอยู่อีกหลาย 100 ปี การเช่าตลอดไปจะคุ้มค่าหรือไม่" นายสุพจน์ กล่าว
สำหรับอุโมงค์และสถานีรถไฟฟ้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ ซึ่งต้องดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนั้น AOT จึงได้ลงทุนก่อสร้างไปก่อน แล้วให้ รฟท.ชำระค่าก่อสร้างคืนภายหลัง แต่จนถึงขณะนี้ รฟท. ยังไม่ชำระค่าก่อสร้างดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หาก รฟท.ตัดสินใจที่จะชำระคืนค่าก่อสร้างทั้งหมดก็คงต้องขอให้ ครม.พิจารณาเพิ่มงบประมาณจากเดิมที่ รฟท. เสนอไปที่ 9,900 ล้านบาท เพื่อให้โครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ในส่วนที่เหลือแล้วเสร็จ
แหล่งข่าวจาก รฟท. กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติกรอบวงเงินค่าก่อสร้างในส่วนของอุโมงค์และสถานีรถไฟฟ้าไว้ประมาณ 4 พันล้านบาทแล้ว หาก รฟท.จะชำระคืนค่าก่อสร้างให้กับ AOT ก็ต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม และ ครม.เพื่อขอนุมัติใช้เงินงบประมาณที่ตั้งไว้ แต่ รฟท.ต้องไปพิจารณาเรื่องภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเบื้องต้น AOT ระบุว่าจำนวนเงินที่ต้องชำระสูงถึง 4,100 ล้านบาทแล้ว
และเป็นที่น่าสังเกตุว่า AOT อยากให้ รฟท.เช่าพื้นที่มากกว่า เพื่อที่จะได้มีสิทธิในการเข้าบริหารพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า ซึ่ง AOT สามารถเปิดให้เช่าพื้นที่ โดยจะคืนทุนภายใน 10 ปี ขณะที่ ทอท.คิดค่าเช่า รฟท.ค่อนข้างสูงประมาณเดือนละ 10 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ รฟท. ต้องไปเสนอผู้บริหารระดับสูงว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ