INTERVIEW: SIMAT แกะรอยหุ้นซ่อนมูลค่าเปิดสตอรี่เทิร์นอะราวด์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 23, 2021 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัจจุบันหุ้นของ บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี (SIMAT) กำลังกลายเป็นหนึ่งในหุ้นที่ถูกคาดหมายถึงโอกาสผลประกอบการจะ พลิกกลับมา "เทิร์นอะราวด์" ได้ดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากธุรกิจบริษัทลูกเข้าสู่รอบการเติบโตครั้งใหม่ พร้อมเตรียมก้าวสู่ความท้าทายยกระดับ เป็น "โฮลดิ้ง คอมพานี" สร้างรากฐานความมั่นคงสามารถเติบโตได้ในระยะยาว

และด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหุ้น SIMAT จากศักยภาพทำกำไรที่ดีขึ้น ได้ถูกสะท้อนเข้ามายังราคาหุ้น SIMAT เพราะหากย้อนหลังช่วงต้นปีหุ้น SIMAT แกว่งตัวแถวๆ บริเวณ 3 บาทกว่าๆ ก่อนจะทะยานขึ้นยืนเหนือ 5 บาทได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้งใน ช่วงกลางปีนี้

*ย้อนรอยงบปี 61 ขาดทุนอ่วมจากบันทึกผลคดี กสท.โทรคมนาคม

นายธีรวุฒิ กานต์นิภากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุน SIMAT เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า หากย้อนไปถึงงบการเงินของ บริษัทช่วงปี 61 ประสบปัญหาอย่างหนักด้วยการขาดทุนสุทธิเกือบ 500 ล้านบาท มาจากค่าใช้จ่ายหลัก คือ การบันทึกผลกระทบความเสีย หายทั้งหมดของคดีความกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT) ในกรณีที่บริษัทฟ้อง กสท ผิดสัญญาไม่ตรวจรับและไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าใช้ โครงข่ายใยแก้วนำแสงพร้อมอุปกรณ์ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.เชียงใหม่ เป็นการเรียกค่าเสียหายจากทุนทรัพย์ 665.62 ล้านบาท แต่ขั้นตอนล่าสุดบริษัทชนะคดีในศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดหากชนะจะมีโอกาสได้ รับเงินชดเชยกว่า 400 ล้านบาท

ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เป็นการบันทึกความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นนั้นจะเป็นแค่ครั้งเดียว แต่หากบริษัทชนะคดีความดังกล่าวในอนาคต ก็จะสามารถนำเงินที่ได้รับชดใช้พลิกกลับมาเป็นกระแสเงินสดได้เช่นเดียวกัน หากเป็นกรณีนี้ก็จะเป็นผลบวกกับกระแสเงินสดให้บริษัทได้ใน อนาคต

*ก้าวผ่านวิกฤติพลิกสู่การเติบโตโดดเด่นจากแรงหนุนบริษัทลูก

นายธีรวุฒิ กล่าวว่า หลังจากบริษัทเผชืญกับปัญหาใหญ่มาแล้ว การดำเนินธุรกิจยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง ในปีนี้คาดว่าภาพรวมของรายได้อาจจะเติบโตราว 5-6% จากปีที่แล้ว แต่อัตรากำไรจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการผลักดัน จากบริษัทลูกเป็นหลัก นั่นคือ บมจ.ฮินซิซึ (ประเทศไทย) (HST) ที่ SIMAT ถือหุ้น 70%

HST เป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลาเบลและซิลค์สกรีน ซึ่งวันนี้ผลประกอบการได้เข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ที่ โดดเด่นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเร่งตัวของดีมานด์กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ,เครื่องใช้สำนักงาน ,และกลุ่มสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ และได้ประโยชน์จากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้กลุ่มลูกค้าส่งคำสั่งซื้อให้กับ HST เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย สำคัญ

ความโดดเด่นของ HST คือมีคู่แข่งน้อยรายในอุตสาหกรรมเดียวกัน และแต่ละรายก็เป็นรายเล็กเมื่อเทียบกับความสามารถใน การผลิตของ HST ที่มีเครื่องจักรมากกว่า 20 เครื่อง ทำให้รองรับกับออเดอร์ของลูกค้าที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้ผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ดังได้เป็นปริมาณมาก

และที่สำคัญคือจุดแข็งที่ลอกเลียนแบบได้ยาก คือ เทคโนโลยีการผลิต ทำให้ธุรกิจของ HST มีศักยภาพทำกำไรค่อนข้างสูง สะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 40% ซึ่งเชื่อมั่นว่าในช่วงถัดไปก็จะยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นระดับสูงตามแนวโน้มดีมานด์ที่ส่งสัญญาณเพิ่ม ขึ้นต่อเนื่อง

อีกส่วนหนึ่ง ธุรกิจที่จะสร้างรายได้ประจำเข้ามาในปีนี้ คือ ธุรกิจไอทีโซลูชั่น (SI) แม้เฟสแรกจะเป็นช่วงเริ่มการก่อสร้าง ทำให้ได้รับส่วนต่างกำไรน้อย แต่เมื่อเข้าสู่เฟสปัจจุบัน ซึ่งเป็นการให้บริการจัดการและบำรุงรักษาโครงการบริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่าง ไกล (USO) ในพื้นที่ 7 จังหวัดโซนภาคอีสาน มูลค่ารวมกว่า 1.2 พันล้านบาท ส่งผลให้เกิดเป็นรายได้ประจำต่อเนื่อง 5 ปี โดยเริ่ม ทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2/64 ดังนั้น เชื่อว่าธุรกิจ SI หลังจากนี้จะมีความสามารถอัตราทำกำไรจะใกล้เคียงกับธุรกิจ HST เช่นกัน

ด้านธุรกิจบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ต แม้ว่าผลการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันรุนแรงของผู้ ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรม แต่ล่าสุดบริษัทจัดตั้งทีมใหม่เข้ามาบริหารงาน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เอฟโอ ที เอ็มเอสโอ จำกัด (FOT) ในเครือเจริญเคเบิลทีวี ซึ่งเป็นเคเบิลทีวีอันดับ 1 ของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพัฒนาธุรกิจอินเทอร์ เน็ตบรอดแบนด์ในโครงการ SINET ในพื้นที่กรุงเทพฯ,เชียงใหม่,นครราชสีมา และขอนแก่น เป็นต้น เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะเพิ่มขีดความ สามารถด้านการแข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะกลับมาเติบโตเสริมความ แข็งแกร่งให้กับบริษัทได้อย่างชัดเจนปีหน้า

"แม้ว่าช่วงนี้มีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะโครงการ USO มีการใช้งานที่สูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจ HST ยังมียอดออเดอร์เข้ามาต่อเนื่องเพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่มียอดขายที่เน้นส่งออกเป็นหลัก"นายธีรวุฒิ กล่าว

*ปูทางนำบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นยกระดับ SIMAT ขึ้นสู่ "โฮลดิ้ง คอมพานี"

นายธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า จากธุรกิจ HST มีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูงและมีความต้องการอย่างมาก ทำให้ระยะ 3 ปีข้าง หน้า HST มีเป้าหมายเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี และด้วยสัญญาณของกลุ่มลูกค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลของการความขัดแย้งทาง การค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการสหรัฐ ส่วนหนึ่งย้ายเข้ามาในอาเซียน ซึ่ง จะส่งผลดีต่อออร์เดอร์ของ HST ด้วย

บริษัทจึงมีแผนธุรกิจในการผลักดัน HST เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนใน ภายในปีนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อระดมทุนมาใช้ขยายการลงทุนด้วยการก่อสร้างโรงงานใหม่ ขยายกำลังการผลิต และเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะกิจการในต่างประเทศ ซึ่งหลังจากที่นำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนแล้ว ในอนาคต SIMAT ก็ก็มีแผนปรับโครงสร้างบริษัทยกระดับขึ้น เป็น "โฮลดิ้ง คอมพานี" เพื่อสร้างความมั่นคงการเติบโตในระยะยาว

"เราเชื่อมั่นว่าธุรกิจ HST จะมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากแผนเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศจากความโดดเด่นด้าน เทคโนโลยีขั้นสูงสามารถต่อยอดขยายฐานลูกค้าได้อีกมาก โดยเฉพาะการแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ เบื้องต้นอาจนำร่องในภูมิภาคอา เซียนก่อนเป็นการเข้าไปลงทุนตามกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ย้ายฐานการผลิตไปในประเทศเวียดนาม ,มาเลเซีย เป็นต้น"

นอกจากนี้ บริษัทมีแนวคิดที่จะจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกรอบหลายปี แต่ต้องขึ้นอยู่กับแผนการบริหารเงินสดด้วย เช่น กรณีบริษัทได้รับกระแสเงินสดเข้ามาจากการนำธุรกิจ HST เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือมาจากบริษัทชนะคดีที่ฟ้องร้องกับกสท โทรคมนาคมจะทำให้กระแสเงินสดบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและจะสามารถปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้

https://youtu.be/8MjkbZ0jaJ8


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ