ก.ล.ต.แนะบุคลากรตลาดทุนเสริมความรู้ ESG เพื่อส่งผ่านคำแนะนำผู้ลงทุนอย่างถูกต้อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 7, 2021 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานกำกับหฃักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่คำนึงถึง ESG แก่ผู้ลงทุน ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น แต่ยังต้องขยายไปถึงผู้ลงทุนรายย่อยด้วย ก.ล.ต.จึงส่งเสริมให้บุคลากรในตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ให้บริการคำแนะนำการลงทุน วิเคราะห์การลงทุน รวมถึงตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนสำหรับผู้ลงทุน ได้มีการเข้าอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับ ESG เพิ่มเติมจากเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้ต้องผ่านการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบ จรรยาบรรณ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอและได้ทบทวนความรู้อย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับบริบทที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

แนวคิดการประกอบธุรกิจและการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานแบบ ESG ของธุรกิจ เป็นการส่งเสริมในเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันตลาดทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ก.ล.ต.ได้ส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนเรื่อง ESG ในตลาดทุนไทยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และผู้ลงทุน รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางในฐานะผู้ให้บริการการลงทุน

ทั้งนี้ บุคลากรในตลาดทุนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการของ ESG เพื่อนำไปประกอบการให้บริการแนะนำการลงทุน การวิเคราะห์การลงทุน และการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนสำหรับผู้ลงทุน รวมถึงการจัดทำบทวิเคราะห์โดยครอบคลุมประเด็นด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้นด้วย

"ก.ล.ต. เชื่อมั่นว่าบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางต่างๆในตลาดทุนที่เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการตอบโจทย์การพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ผู้ระดมทุน และตลาดทุนโดยรวม"นางสาวรื่นวดี กล่าว

นาง Marry Leung CFA, Head Advocacy APAC, CFA Institute กล่าวในหัวข้อ Overview on ESG Integration Framework for investment analysis ว่า ESG เป็นเรื่องใกล้ตัวที่กระทบต่อชีวิตประจำวัน และยังมีผลต่อผลกำไร และความอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในหลักทรัพย์ของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว จึงไม่แปลกใจที่ผู้ลงทุนทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญและนำเรื่อง ESG มาประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนสถาบันหลายราย

การวิเคราะห์เกี่ยวกับการกำหนด ESG ขององค์กรจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านต่างๆ ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่ความเสี่ยง 2 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านกายภาพ (Physical Risk) จากผลกระทบทางตรงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น ภัยธรรมชาติส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ภัยแล้งกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยไทยติดอันดับที่ 26 ของประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) และกรุงเทพฯ ยังติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองที่มีโอกาสจมน้ำเร็วที่สุดในโลก

ความเสี่ยงจากการปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) เนื่องจากนโยบายทางการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งธุรกิจอาจจะไม้ได้ใส่ใจในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอ ทำให้มีโอกาสสร้างความเสียหายและมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้ เช่น บริษัททำน้ำมันดิบรั่วลงทะเล ส่งผลให้สัตว์ทะเลตาย ปะการังเสียหาย มีสารอันตรายปนเปื้อนในทะเล กระทบต่อชุมชน ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้าขาย และการทำประมง ตลอดจนสุขภาพของคนในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากบริษัทจะเสียชื่อเสียงแล้วยังถูกฟ้องร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

ปัจจัยด้านสังคมส่งผลกระทบต่อองค์กรภายในเช่นการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมสวัสดิการพนักงาน การเคารพสิทธิมนุษชน โดยพนักงานที่มีคุณภาพชีวิตไม่เหมาะสม ทำให้ไม่สามารถทำงานให้กิจการได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ และปัจจัยด้านสังคมส่งผลกระทบต่อภายนอก ได้แก่ การผลิตและการให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม ธุรกิจ ต่อเนื่อง ลูกค้า และผู้ถือหุ้น เช่น การซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรด้วยราคาที่เป็นธรรม เพราะหากเกษตรกร ยากจน ไม่มีเงินลงทุนในการเพาะปลูก หรือไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้

ปัจจัยด้านธรรมาภิบาล ได้แก่ การทำหน้าที่ของกรรมการ การบริหารจัดการ การกำกับดูแลภายในที่โปร่งใส เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างคุณค่าของกิจการอย่างยั่งยืน เช่น กรณีผู้บริหารของกิจการใช้ข้อมูล ภายในหรือทุจริตฉ้อโกง ซึ่งการที่ถูกทางการลงโทษแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานของกิจการด้วย หรือในกรณีธุรกิจเครื่องสำอางขาดจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ ใช้วัตถุดิบ ไม่มีคุณภาพเพราะเห็นว่าราคาถูกมาผลิต ทำให้สภาพผิวลูกค้าเสียหาย ต่อไปลูกค้าก็จะไม่กลับไปซื้อสินค้าอีก

การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG แม้ว่าจะส่งผลให้ธุรกิจอาจมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ถือเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจได้ด้วย และยังอาจช่วยสร้างรายได้ จากพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในโรงงาน การเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิง หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มที่ทำให้กิจการสามารถลดต้นทุนการผลิต การคิดค้นสินค้าและบริการ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุสร้างอาคารที่ระบายความร้อนหรือประหยัดพลังงาน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หลอดและถ้วยซิลิโคนที่นำกลับมาใช้ได้

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างคุณค่าแก่สินค้า ธุรกิจสามารถนำสินค้าที่ได้จากการนำหลัก ESG มาใช้ต่อยอดในการขยายตลาดใหม่ เปิดโอกาสให้ธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มจากกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ผู้บริโภคมักจะเลือกสินค้าและบริการจากกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาโควิด-19 เกิดขึ้น ทุกคนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของตัวเองมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า และหลายๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วต่างสนับสนุนการลงทุนด้าน ESG กันอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ทุกคนที่อยู่ในวงการตลาดทุนตระหนักถึงความสำคัญของการรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างความยั่งยืนให้กับทุกคนได้อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ