(เพิ่มเติม) RATCH คาดปลายปี50 สรุปสัดส่วนลงทุน"หงสาลิกไนต์"/แนวโน้มรายได้ปี 51 โต

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 7, 2007 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายธวัช วิมลสาระวงค์ รองกรรมการผู้จัดการ พัฒนาธุรกิจ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH)  คาดว่า ปลายปี 50 จะสามารถสรุปสัดส่วนการลงทุนในโครงการหงสาลิกไนต์ โดยเบื้องต้นคาดว่า RATCH จะถือหุ้น 40% บมจ.บ้านปู (BANPU) 40%  และรัฐบาลลาว 20%  ของมูลค่าโครงการผลิตโรงไฟฟ้า  2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
"ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา การร่วมถือหุ้น แต่รัฐบาลลาวมีข้อกำหนดว่าอยากให้มีประเทศอื่นเข้ามาร่วมทุนในโครงการนี้ด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นประเทศจีน" นายธวัชกล่าว
ส่วนการเข้าถือหุ้นธุรกิจเหมืองในโครงการหงสาลิกไนต์ คาดว่าเบื้องต้น RATCH จะถือ 37.5% BANPU ถือ 37.5% และที่เหลือถือโดยร้ฐบาลลาว ซึ่งเหมืองลิกไนต์ดังกล่าว เชื่อว่าจะมีปริมาณถ่านหินลิกไนต์ ใช้ได้ถึง 30 ปี
สำหรับค่าไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าหงสาฯ คาดว่าจะเจรจากับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ลุล่วงได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่ง BANPU จะเป็นผู้เจรจา
ทั้งนี้ คาดว่าโรงไฟฟ้าหงสาฯ จะสามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างเร็วในปี 2556 และอย่างช้าไม่เกินปี 2557
ขณะที่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยร่วมกับบริษัท SK Engineering & Construction Co., Ltd. ในลาว มีกำลังการผลิต 372 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ ประมาณ 668 ล้านบาท นายธวัช กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอรูปแบบโครงการ และเตรียมเซ็นสัญญากับรัฐบาลลาวในสัปดาห์หน้า และในขั้นตอนต่อไป ราคาค่าไฟฟ้ากับทางกฟผ.
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าน้ำบากในลาว กำลังการผลิตเบื้องต้นอยู่ 140 เมกะวัตต์ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปของโครงการที่จะเกิดขึ้นจริง
ส่วนโครงการอื่นในลาว ขณะนี้บริษัทได้เจรจาอยู่ 3-4 โครงการ โดยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการไรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย โดยอยู่ทางใต้ของลาว เพื่อจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงทุนด้านสายส่งของโครงการไรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย
**แนวโน้มรายได้ปี 51 โต หลังมีรายได้ใหม่จาก"ราชบุรี เพาเวอร์"
นายธวัช กล่าวว่ ในปี 2551 บริษัทจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาจากโครงการโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ในเดือนมี.ค.2551 และ มิ.ย. 2551 และยังมีโครงการแอลกอฮอล์เพื่อการส่งออก กำลังการผลิต 30 ล้านลิตรต่อปี เชื่อจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนก.พ.2551
ขณะที่ การปิดซ่อมโรงไฟฟ้าในปี 2551 จะปิดซ่อมน้อยกว่าปี 2550 โดยจะปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าขนาดเล็กตามแผน 2 ยูนิต และจะปิดซ่อมบำรุงใหญ่ 1 ยูนิตในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 2551
"ปี 51 การปิดซ่อมบำรุงน้อยกว่าปีนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัท จากที่ปีนี้ที่บริษัทได้รับกระทบปิดซ่อมบำรุงใหญ่ 2 เครื่องในช่วงไตรมาส 3 และปิดอีก 1 เครืองในไตรมาส 4 ทำให้มีผลกระทบต่อรายได้" นายธวัช กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะชนะประมูลงานโรงไฟฟ้ารอบนี้ ตามที่บริษัทได้ยื่นไป 2 โรง รวม 1,600 เมกะวัตต์ และกำลังศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประมูล IPP รอบใหม่ ซึ่งเชื่อว่า ก.พลังงานจะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย ทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีดีกว่าแต่ก่อน ซึ่งไม่น่าจะเกิดปัญหาเช่นในอดีต และจะทำความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมกับประชาชนได้ง่ายกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ