Decrypto: E-KYC ที่ไม่ E-KYC

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 1, 2021 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เคยสงสัยกันไหมว่า...ทำไมการจะเปิดบัญชีเทรดคริปโทฯ เพียง 1 บัญชีมันมีขั้นตอนที่วุ่นวายหลายชั้น ประหนึ่งว่าจะซักประวัติเราเอาไปสมัครงาน หรือ เป็นผู้กระทำผิด ??

แท้จริงแล้วขั้นตอนเหล่านั้นมีที่มา และเราเรียกสิ่งนั้นว่า "การระบุและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer : KYC)" และ "การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence : CDD)" ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

หากจะย้อนกลับไปประมาณ 3 ปีก่อน การที่ท่านจะเข้ามาเทรดคริปโทฯ ในตลาดของประเทศไทยได้นั้น จะต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคลหลายอย่างผ่านทาง Application หรือ Website แบบออนไลน์ 100% อาจรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ เช่น แหล่งที่มาของรายได้ อาชีพการงาน หรือบางครั้งอาจต้องมีหลักฐาน Bank Statement ด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ KYC และ CDD ทั้งสิ้น โดยความละเอียดของข้อมูลที่ผู้ประกอบการจะร้องขอจากท่านนั้นจะมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงในการฟอกเงินของท่าน

ทั้งนี้ การดำเนินการ KYC และ CDD นั้นก็มีไว้เพื่อเป็นการกรองหรือป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการนั้นกลายเป็นเครื่องมือในการฟอกเงินของลูกค้าที่เป็นผู้กระทำผิดและต้องการจะฟอกเงินของตนเองได้

เมื่อช่วงประมาณปลายเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการทำ KYC และ CDD ลูกค้าใหม่ ที่อาจเรียกได้ว่าทำให้ชีวิตของลูกค้าใหม่ยากขึ้นพอสมควร เนื่องจาก สำนักงาน ปปง. ได้ออกประกาศ กำหนดให้การพิสูจน์ทราบตัวตนลูกค้าบุคคลธรรมดาแบบไม่พบเห็นลูกค้าต่อหน้า (Non Face to Face) ของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความเสี่ยงสูง (ซึ่งสำนักงาน ปปง. มองว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของคริปโทเคอร์เรนซีนั้นถือว่าเสี่ยงสูง) จะต้องทำการ DIPCHIP (เสียบบัตรประชาชนกับ Smart Card Reader) หรือ ใช้ Near Field Communication (NFC) แล้วนำข้อมูลภาพถ่ายลูกค้าที่ได้นั้นมาเปรียบเทียบภาพใบหน้าด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ

สิ่งนี้ยิ่งทำให้การทำ KYC และ CDD ลูกค้าใหม่ซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง นอกจากนี้ ยังทำให้ขัดกับลักษณะของการยืนยันตัวตนแบบ Non Face to Face ซึ่งกลายเป็นว่าลูกค้าจะต้องกลับมาหาช่องเสียบบัตรหรือบุคคลผู้รับเสียบบัตรเพื่อให้สามารถผ่านขั้นตอนนั้นไปได้ ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าเรากำลังจะ "ถอยหลัง" จากการยืนยันตัวตนแบบ online 100% กลับไปเป็น offline แทน (เรียกว่าเป็นการ eKYC ที่ไม่ eKYC จริงๆ) และยิ่งทำให้ชีวิตยากขึ้นไปอีกในสถานการณ์ COVID-19 เช่นนี้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสำนักงาน ปปง. ได้ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถเรียกตรวจสอบเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานรัฐที่น่าเชื่อถือเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับแทนการ DIPCHIP หรือ NFC ได้ ซึ่งก็ถือเป็นการช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการและลูกค้ามีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง (ถึงแม้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะค่อนข้างซับซ้อนมากอยู่แล้วก็ตาม)

หากเทียบเคียงกับวิธีการพิสูจน์ยืนยันตัวตนในต่างประเทศนั้น จะเห็นได้ว่ามีความสะดวกสบายกว่าประเทศไทยของเราเป็นอย่างมาก อาทิ สหราชอาณาจักร หรือกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ที่มี Digital ID ซึ่งออกโดยผู้ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแล หรือหากดูในภูมิภาคเอเชียของเรา ก็มีทั้งประเทศมาเลเซียที่มี MyDigital ID หรือประเทศสิงคโปร์ที่มี Singpass ที่ใช้สำหรับรองรับการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ซึ่งเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการผลักดันและร่วมมือกันทั้งระดับหน่วยงานรัฐผู้ออก identity ของประชาชน และหน่วยงานเอกชนที่จะต้องเชื่อมโยงกับระบบดังกล่าวเพื่อให้เกิดการพิสูจน์ยืนยันตัวตนที่สะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย

อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยก็พบว่ามีแนวคิดจะให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบภาพถ่ายของลูกค้าผ่านระบบของกรมการปกครองได้ (ระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service - FVS) แต่ยังอยู่ในชั้นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งก็ต้องติดตามความคืบหน้าของพัฒนาการของการพิสูจน์ยืนยันตัวตนบุคคลธรรมดาในประเทศไทยต่อไป ซึ่งเราก็หวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาระบบดังกล่าวมาเพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากในการพิสูจน์ยืนยันตัวตนที่ไม่จำเป็นออกไป เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าที่ประสงค์จะสมัครบริการกับผู้ประกอบการในไทย และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้าในประเทศไทยให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน และส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศไทยกับผู้ประกอบการระดับโลกได้ต่อไป

นายโมกข์พิศุทธิ์ รตารุณ

หัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติงาน

บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด


แท็ก e-KYC   บัญชี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ