CONSENSUS: โบรกฯเชียร์ ซื้อ BBL ลุ้นซื้อพอร์ตสินเชื่อซิตี้แบงก์หนุนอัพไซด์กำไรปีหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 4, 2021 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ต่างเชียร์ "ซื้อ" หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) โดยมองศักยภาพการเข้าซื้อพอร์ตสินเชื่อรายย่อยจากธนาคารซิตี้แบงก์ และมีโอกาสจะได้พอร์ตสินเชื่อดังกล่าวด้วย เบื้องต้นหากประมูลพอร์ตสินเชื่อรายย่อยในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท จะช่วย Upside ต่อประมาณการกำไรในปี 65 ให้เพิ่มขึ้นราว 3% คาดว่าดีลดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือน ธ.ค.64

พร้อมคาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 4/64 มีโอกาสทำได้ดีกว่าไตรมาส 3/64 และดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นจะช่วยหนุนให้มีการลงทุนรอบใหม่เกิดขึ้น และจะส่งผลดีต่อ BBL ในแง่เป็นธนาคารที่เชี่ยวชาญในส่วนของสินเชื่อรายใหญ่ที่มองว่าจะกลับมาได้ก่อนสินเชื่อประเภทอื่น ๆ อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะตั้งสำรองลดลงในไตรมาส 4/64 หลัง 9 เดือนที่ผ่านมาตั้งสำรองไปแล้ว 26,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการตั้งสำรอง 28,000 ล้านบาท

หุ้น BBL ปิดเช้าที่ 127.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท (+2.01%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดบวก 0.60%

          โบรกเกอร์                   คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เอเชียเวลท์                    ซื้อ                     180
          เคทีบีเอสที                     ซื้อ                     146
          กรุงศรี                        ซื้อ                     141
          แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์               ซื้อ                     159
          ฟิลลิป                         ซื้อ                     159

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที เปิดเผยว่า จากศักยภาพที่จะสามารถเข้าซื้อพอร์ตสินเชื่อรายย่อยจากธนาคารซิตี้แบงก์มีเพียงธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ คือ KBNK ,BAY ,SCB และ BBL ที่จะสามารถซื้อได้ มองว่า BBL มีโอกาสเข้าประมูลพอร์ตสินเชื่อดังกล่าว หลังจากการเข้าประชุมนักวิเคราะห์ BBL ได้ตั้งเป้าที่จะรุกสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น และมีโอกาสที่จะได้พอร์ตสินเชื่อดังกล่าวด้วย

แต่อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามว่าราคาที่เข้าซื้อจะอยู่ที่เท่าไหร่ เหมาะสมหรือไม่ และจะสามารถขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยได้มากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นหากประมูลพอร์ตสินเชื่อรายย่อยในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วย Upside ต่อมาณการกำไรในปี 65 ให้เพิ่มขึ้นราว 3% โดยคาดว่าดีลดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือน ธ.ค.

"เรามองว่ามีโอกาสที่ BBL จะได้พอร์ตสินเชื่อรายย่อยดังกล่าวเข้ามา เนื่องจากธนาคารอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการเข้าซื้อมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการขยายรูปแบบที่ต่างกันไป บางรายมีการปล่อยสินเชื่อรายย่อยจำนวนมากอยู่แล้ว และ BBL เองได้ตั้งเป้ารุกสินเชื่อรายย่อยมากยิ่งขึ้น จึงมองว่ามีโอกาสที่จะเข้าซื้อได้มากที่สุด"นายมงคล กล่าว

ด้านทิศทางผลผประกอบการของธนาคารจะมีการเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ในขณะเดียวกันทิศทางกำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 4/64 จะเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่โตดี และมีกำไรจากเงินลงทุนเข้ามาช่วยหนุน

ด้าน บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิ BBL ไตรมาส 4/64 ขึ้น โดยคาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 และไตรมาส 4/63 หลังจากปรับรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non NII) ขึ้นเป็น 49,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 44,000 ล้านบาท หลังจาก BBL มีรายได้ non-NII แข็งแกร่งโดยเฉพาะกำไรจากการปรับมูลค่าตลาด (MTM) ที่ทำได้สูงถึง 5,000-6,000 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 2-3 สูงกว่าระดับปกติที่ 1,500-2,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกันการตั้งสำรองจะต่ำลงหลังจากภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุม

ทั้งนี้ BBL ได้คงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 3-4% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ 4.5% ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ 2.1% และสัดส่วน C/I ที่ระดับ 50% ต้นๆ แต่มีการปรับเป้าหมายผลขาดทุนเครดิต (ECL) หรือการตั้งสำรอง ขึ้นจาก 22,000 ล้านบาท เป็น 28,000 ล้านบาท เนื่องจากฝ่ายบริหารยังคงใช้วิธีการที่รอบคอบในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่แน่นอน โดย บล.กรุงศรีมองเห็นดาวน์ไซด์ที่มาจาก ECL ที่คาดการณ์ในปี 64 แม้ว่าจะปรับเป้าหมาย ECL ใหม่จาก BBL จะเท่ากับที่ประเมิน อย่างไรก็ตามมองว่า ดาวน์ไซด์จาก ECL จะมีผลน้อยกว่าอัพไซด์จากสัดส่วน C/I และ non-NII โดยเฉพาะจากกำไรจากการปรับมูลค่าตลาด (MTM)

ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า ทิศทางกำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 4/64 จะมีการเติบโตในระดับสูง แม้ว่าจะเป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายเข้ามาจำนวนมากและจะมีการปรับเป้าการตั้งสำรองเป็น 28,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 22,000 ล้านบาท แต่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาได้มีการตั้งสำรองไปแล้วถึง 26,000 ล้านบาท จึงมีความเป็นไปได้ว่าไตรมาส 4/64 จะมีการตั้งสำรองที่ลดลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 4/63 ที่มีการตั้งสำรอง 7,200 ล้านบาท และไตรมาส 3/64 ที่มีการตั้งสำรองไป 9,900 ล้านบาท

ทั้งนี้ มองว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นจะช่วยหนุนให้มีการลงทุนรอบใหม่เกิดขึ้น และจะส่งผลดีต่อ BBL ในแง่เป็นธนาคารที่เชี่ยวชาญในส่วนของสินเชื่อรายใหญ่ที่มองว่าจะกลับมาได้ก่อนสินเชื่อประเภทอื่น ๆ

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจที่ประเทศอินโดนีเซีย จาก Permata ยังมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของ BBL มากยิ่งขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ