SCB CIO แนะปี 65 เน้นลงทุนหุ้นแม้โควิดยังอยู่คาดเศรษฐกิจ-กำไรบจ.ฟื้นตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 21, 2021 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า จากคำแนะนำจัดสรรพอร์ตการลงทุน Moderate Asset Allocation (ความเสี่ยงระดับกลาง) ของ SCB CIO ในช่วงปี 64 ที่ผ่านมา สามารถสร้างผลตอบแทนได้ 14.7% โดยมีผลตอบแทนรายเดือนในแต่ละเดือนเป็นบวกตลอดทั้ง 12 เดือน โดยผลตอบแทนที่โดดเด่นและสม่ำเสมอนี้เป็นผลมาจากมุมมองการจัดสรรน้ำหนักการลงทุน Tactical Asset Allocation ที่เหมาะสมกับสภาวะตลาด รวมถึงการคัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปแบบใหม่ที่ให้ผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น

ในส่วนมุมมองการลงทุนผลตอบแทนของพอร์ตได้อานิสงส์หลักมาจากมุมมองเชิงบวกและเน้นจัดสรรสินทรัพย์น้ำหนักการลงทุนไปยังกลุ่มหุ้นกลุ่มเติบโตในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯและยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ Outperform อย่างมากในปีนี้ อีกทั้งยังเสริมด้วยการลงทุนรูปแบบ Thematic ในอุตสาหกรรม Semiconductor ที่สร้างผลตอบแทนให้พอร์ตได้สูงถึง 16.5% ตลอดช่วงเวลาที่ถือครอง

โดยในฝั่งของหุ้นตลาดเกิดใหม่ได้มุ่งเน้นจัดสรรน้ำหนักการลงทุนไปยังตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยกองทุนที่เข้าลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 27.6% ตลอดช่วงเวลาที่เข้าลงทุน ในส่วนของหุ้นไทยการเลือกลงทุนในกองทุน Private Fund สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 20.5% ซึ่งสูงกว่า SET Index TR ที่ให้ผลตอบแทน 12.8% ในปีนี้

นอกจากนี้ในส่วนของ Private Asset สินทรัพย์รูปแบบใหม่ที่ปีนี้เราได้เสริมเข้ามาในพอร์ต ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนและลดความผันผวนแก่พอร์ตโดยรวมได้เป็นอย่างดี โดยมีกองทุน Private Equity สร้างผลตอบแทนได้ 16.5% และกองทุน Private Debt สร้างผลตอบแทนได้ 7% ถึงสิ้นเดือนต.ค. 64 โดยทั้งสองกองทุนมีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอแม้ในช่วงที่ภาพรวมตลาดการลงทุนปรับตัวลดลง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้พอร์ตการลงทุน Moderate Asset Allocation สามารถสร้างผลตอบแทนรายเดือนเป็นบวกได้ทุกเดือนในปี 64

ขณะที่ในช่วงที่ตลาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ เช่น ตลาดหุ้นไทย ธนาคารได้แนะนำให้ลูกค้าลงทุนใน Structure Note KIKO (ตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์) ที่สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจกว่า 8-10% ต่อปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB CIO เปิดเผยว่า มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 65 SCB CIO ได้ประเมิน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1. โควิด-19 จะยังอยู่ไปอีกนาน โดยผลกระทบแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังไม่หายไป ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศเริ่มมีความแตกต่างน้อยลง โดยเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วหลังจากฟื้นตัวในปี 64 จะเริ่มชะลอลงในปี 65 ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการข้อจำกัดต่างๆ เช่น การเดินทางระหว่างประเทศ

2. นโยบายการเงินการคลังเริ่มตึงตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 65 โดยทยอยขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี แต่จะมีการสื่อสารให้ตลาดรับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินโลกแม้จะเกิดขึ้นในช่วงสั้นแต่น่าจะอยู่ในระดับที่จัดการได้ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับ 0.5% ต่อไปอีก 1 ปี เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายการคลังในประเทศพัฒนาแล้วจะเริ่มเห็นการออกนโยบายเพิ่มรายได้ภาครัฐมากขึ้น เช่น การขึ้นภาษี แต่อาจจะไม่มากพอที่จะชดเชยการขาดดุลขนาดใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง

3. ต้นทุนทางการเงินเริ่มสูงขึ้นและค่าเงินบาทแม้ว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในครึ่งหลังของปีแต่มาพร้อมความผันผวน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัด โดย SCB CIO คาดว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะอยู่ในช่วง 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯในปลายปี 65 แต่จากการปรับนโยบายการเงินในประเทศต่างๆ และความไม่แน่นอนของการกลายพันธุ์โควิด-19 ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูงของ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX hedging strategy) จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ

4. SCB CIO ยังคงแนะนำเน้นการลงทุนในหุ้นมากกว่าพันธบัตร โดยเน้นไปที่กลุ่มประเทศและธุรกิจที่มีภูมิคุ้มกันสูงและเติบโตได้ดีในสภาวะที่ผลกระทบของโควิด-19 ยังไม่หายไป และการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น หุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม quality growth ตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็น top pick ในตลาดหุ้นอาเซียน แม้ valuation เริ่มมีการขยับขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตามในระยะข้างหน้า SCB CIO เชื่อว่าเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดจะเบียนจะมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคส่งออก SCB CIO คงมุมมองตลาดหุ้นไทยเป็น neutral จาก valuation ที่ตึงตัวกว่าตลาดหุ้นเวียดนาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 65 เพื่อป้องกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อสูงยืดเยื้อกว่าคาด SCB CIO ยังแนะนำว่าในพอร์ตการลงทุนควรพิจารณา น้ำมัน หุ้นกลุ่ม financial และ consumer ส่วนทองคำน่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ

นายศรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันน้อยลง จะทำให้มีการลงทุนใน Thematic investment funds ในอุตสาหกรรมและบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและธุรกิจเฉพาะทางมากขึ้น รวมทั้งธุรกิจที่สามารถเกาะกระแสการเติบโตของเมกะเทรนด์ในอนาคตได้ จะมีบทบาทและความน่าสนใจมากขึ้นในการจัด Global asset allocation portfolio

โดยในปี 65 SCB CIO แนะลงทุนใน 2 ธีมการลงทุนหลัก ได้แก่ Super Investment Theme ซึ่งจับกระแสการลงทุนหุ้นโลกกลุ่ม Renewable Energy & Decarbonization และ Disruptive Technology ที่เติบโตดีต่อเนื่อง และ Futuristic Investment Theme ซึ่งจับกระแสการลงทุนหุ้นโลกกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพการเติบโตสูง

สำหรับ Super Investment Theme เป็นธีมการลงทุนอุตสาหกรรมระยะยาวที่เติบโตต่อเนื่อง มี 3 ธีมย่อยสำหรับการลงทุนที่มีความน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่ม Renewable Energy & Decarbonization เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอน และ Healthcare and Healthtech โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Technology เช่น อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ จากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก และ Fintech เทคโนโลยีทางการเงินที่เกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เปิดโอกาสการลงทุนในบริษัทที่มีความหลากหลายในการให้บริการทางการเงิน

ส่วน Futuristic Investment Theme ธีมการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพเติบโตสูง มี 3 ธีมย่อยที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ Aerospace & Space Exploration จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจด้านอวกาศและการบิน การท่องเที่ยวอวกาศ รวมถึงเทคโนโลยีจรวด โดรน ดาวเทียม การวัดและพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ และระบบโทรคมนาคมขั้นสูง และ Metaverse การลงทุนในวิวัฒนาการขั้นต่อไปของอินเทอร์เน็ตในเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ซึ่งสามารถสร้างโอกาสการเติบโตที่หลากหลายไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจโซเชียลมีเดีย แต่รวมถึงโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวกับวิดีโอเกมและสันทนาการ อีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมการผลิต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ