(เพิ่มเติม) THAI คาดเซ็นกู้ 2.5 หมื่นลบ.พร้อมปรับโครงสร้างทุน มี.ค.,ลั่นพ้นแผนฟื้นฟูก่อน 5 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 28, 2022 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) THAI คาดเซ็นกู้ 2.5 หมื่นลบ.พร้อมปรับโครงสร้างทุน มี.ค.,ลั่นพ้นแผนฟื้นฟูก่อน 5 ปี

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้จัดหาสินเชื่อใหม่กับกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ที่มีธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในฐานะอันเดอร์ไรท์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งทั้ง 5 สถาบันการเงินเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท โดยมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศและต่างประเทศ รวมสำนักงานใหญ่ของการบินไทย และเครื่องบินที่บริษัทเป็นเจ้าของและรอการขาย จำนวน 45 ลำ

ทั้งนี้ เงินกู้ใหม่ดังกล่าวจะนำไปใช้คืนค่าตั๋วโดยสารที่ค้างจ่ายอยู่ในช่วงที่ไม่ได้ทำการบินอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จ่ายค่าชดเชยพนักงานที่ออกไปกว่า 4 พันล้านบาท ที่เหลือนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ บริษัทจะมีการปรับโครงสร้างทุน เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการเดิมระบุในแผนมีเงินทุนใหม่เข้ามา 5 หมื่นล้านบาท ก็ปรับมาเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากภาครัฐไม่ได้นำเงินทุนใหม่ใส่เข้ามาให้บริษัท โดยการปรับโครงสร้างทุนใหม่จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกได้เร็วกว่ากำหนดการเดิม โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการยกร่างแผนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ คาดจะยื่นต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ในปลายเดือน มี.ค.65 จากนั้นยื่นให้ศาลล้มละลาย และจะเริ่มดำเนินการต่อเมื่อศาลมีคำสั่ง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนกระทรวงการคลัง บริษัทได้รับแจ้งว่าจะยังคงต้องการที่จะถือหุ้นใน THAI อย่างน้อย 40% ซึ่งกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง แต่ก็ยังมีแบงก์รัฐ คือธนาคารออมสิน และ KTB ที่เป็นธนาคารเจ้าหนี้ จะถือหุ้นเพิ่มขึ้น จากแผนฟื้นฟูที่จะให้แปลงหนี้เป็นทุนได้ และยังมีกองทุนวายุภักษ์อีกก็เป็นส่วนของภาครัฐ

อนึ่ง ก่อน THAI เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ กระทรวงการคลัง ถือหุ้นใหญ่ที่ 47.86% ธ.ออมสินถือ 2.13% กองทุนวายุภักษ์ถือ 17.08%

นายปิยสวัสดิ์ คาดว่าการบินไทยจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูก่อน 5 ปี หลังปรับโครงสร้างทุนใหม่ เนื่องจากบริษัทได้ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก ขณะเดียวกันหลายประเทศก็ทยอยเปิดประเทศ อย่างออสเตรเลียเปิดแล้ว ประเทศในเอเชียก็ทยอยเปิดประเทศมากขึ้น คาดว่าในครึ่งปีหลัง เกาหลี ญี่ปุ่น น่าจะทยอยเปิดประเทศ ส่วนจีนเราไม่ได้หวังว่าจะเปิดประเทศปีนี้ แต่ถ้าเปิดได้ก็ถือเป็นอัพไซด์

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การบินไทยก็จะยังมีผลขาดทุน แต่ปีหน้ามีโอกาสกลับมามีกำไร โดยผลประกอบการการบินไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน รวมบริษัทไทยสมายล์ จำกัด และเอ้าท์ซอส รวม 14,000 คน

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี THAI กล่าวว่า การได้รับสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างทุนใหม่ที่จะให้ผู้ให้สินเชื่อใหม่ มีความมั่นใจ และบริษัทเดินหน้าต่อได้ ประกอบกับบริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น ก็ทำให้ขาดทุนสะสมของบริษัทลดลง

อนึ่ง สิ้นปี 64 การบินไทยมีผลขาดทุนสะสม จำนวน 104,674 ล้านบาท

นอกจากนี้กลุ่มเจ้าหนี้สหกรณ์ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่อง ซึ่งกำลังพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหกับการบินไทย ส่วนเจ้าหนี้รายอื่น ไม่ได้ปรับแก้เงื่อนไขการให้กู้

นายชาย กล่าว่า ประมาณการปี 65 บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตลงหลังจากการระบาดโควิดระลอกใหม่จากสายพันธุ์โอมิครอนส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 แต่คาดว่าในไตรามาส 2-3/65 จะเริ่มดีขึ้น โดยคาดว่าในไตรมาส 2/65 รายได้จะเติบโต 10-12% จากช่วงเดียวันของปีก่อน และคาดว่าในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นตามคาดการณ์ปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger Kilometers: RPK) เติบโตมากกว่า 50%

ปัจจุบัน ฝูงบินของ THAI มีเครื่องบินที่ใช้งานอยู่ 58 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777 จำนวน 14 ลำ, โบอิ้ง 787 จำนวน 8 ลำ แอร์บัสเอ 350 จำนวน 12 ลำ แอร์บัส เอ 320 จำนวน 20 ลำ โบอิ้ง777-200 ER จำนวน 4 ลำ นอกจากนี้จะรับมอบเครื่องบินใหม่ 3 ลำ เป็นโบอิ้ง 777-300ER เริ่มส่งมอบ มี.ค.-เม.ย.65 ซึ่งจะรองรับเส้นทางกรุงเทพ-ลอนดอน เมื่อรวมทั้งหมดจะมีจำนวน 61 ลำ

ส่วนเครื่องบินที่รอการขายมีจำนวน 42 ลำ และคืนผู้ให้เช่า 16 ลำ

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การบินไทยจะเพิ่มฝูงบินหรือไม่ขึ้นกับสถานการณ์ด้านการบิน การเปิดประเทศของประเทศต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอเอเชียทยอยเปิดประเทศ โดยไทยเริ่มใช้มาตรการ Test&Go เมื่อเดือน พ.ย.64 ยอดผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 311 คน/วันในเดือน ต.ค.64 เป็น 1,067 คน/วันในเดือน พ.ย.64 และเพิ่มเป็น 2,559 คน/วันในเดือนธ.ค.64 แต่ต้นปี 65 รัฐบาลก็งดการใช้ Test&Go ทำให้ในเดือน ม.ค.-ก.พ.65 จำนวนผู้โดยสารลดลง 20% จากเดือน ธ.ค.64

ส่วนไทยสมายล์ที่บินเส้นทางในประเทศก็มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 9,536 คน/วันในเดือน ธ.ค.64 จากเดือน ก.ย.64 อยู่ที่ 2,623/วัน แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับ เพียง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ

สำหรับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การบินไทยไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีเส้นทางไปรัสเซีย มีแต่เที่ยวบินเช่าเหมาลำจากรัสเซียมาไทย และเส้นทางบินไปยุโรปก็ไม่ได้ผ่านน่านฟ้ารัสเซีย

การที่ภาครัฐนำมาตรการ Test&Go มาใช้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง บริษัทฯ จึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่างๆ อาทิ ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ และเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย และจุดหมายปลายทางในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/65 นี้เป็นต้นไป ในขณะที่สายการบินไทยสมายล์ได้เปิดให้บริการในเส้นทางร้อยเอ็ดและตรังจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเปิดให้บริการจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับปี 64 บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%) โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท หรือ 51% สืบเนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%) และรายได้จากบริการอื่นๆ ลดลง 1,545 ล้านบาท แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป จากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ

บริษัทและบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ เป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุดในปี 64 จำนวน 55,118 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 161,219 ล้านบาท ลดลง 48,078 ล้านบาท หรือ 23% หนี้สินรวม 232,470 ลดลง 105,492 ล้านบาท หรือ 31.2% ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบ 71,251 ล้านบาท ติดลบลดลงจาก 128,665 ล้านบาท หรือลดลง 57,414 ล้านบาท เนื่องจากในปี 64 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ