ทริสฯ ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ JMT เป็น BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 18, 2022 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บมจ. เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เป็น "BBB+" จาก "BBB" ในขณะเดียวกันแนวโน้มอันดับเครดิตถูกปรับเป็น "Stable" หรือ "คงที่" จาก "Positive" หรือ "บวก" การปรับเพิ่มของอันดับเครดิตนั้นเป็นไปตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ บมจ. เจมาร์ท (JMART) (ได้รับการจัดอันดับเครดิต "BBB+/Stable" จากทริสเรทติ้ง) โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของบริษัทเจมาร์ท ซึ่งตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ" ของทริสเรทติ้งนั้น อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจะเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเจมาร์ท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • สถานะการก่อหนี้ที่ปรับดีขึ้นจากการเพิ่มทุนของกลุ่มบีทีเอส

การปรับอันดับเครดิตขึ้นของบริษัทเป็นไปตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทเจมาร์ทจากการที่มีสถานะการก่อหนี้ที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเพิ่มทุนในบริษัทเจมาร์ทโดยบริษัทในกลุ่มบีทีเอส ซึ่งรวมไปถึง บมจ. วีจีไอ (VGI) และ บมจ. ยู ซิตี้ (U) จำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวกันบริษัทก็ได้ทำการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวน 1 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนเงินมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทเจมาร์ท และส่วนที่เหลือมาจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ รายการเพิ่มทุนดังกล่าวทำให้สถานะการก่อหนี้ของบริษัทและบริษัทเจมาร์ทปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก

ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.2 เท่าจาก 1.9 เท่าในปี 2563 แม้ว่าสถานะก่อหนี้จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ทริสเรทติ้งมองว่าแผนการขยายธุรกิจเชิงรุกของบริษัทจะทำให้เงินที่ได้รับมาจากการเพิ่มทุนจะถูกใช้ไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 2.5 เท่าในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) ซึ่งอยู่บนสมมติฐานว่าอัตราการจัดเก็บเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2564 รวมไปถึงไม่ได้มีการเพิ่มทุนอีกในช่วงเวลาดังกล่าว

  • เป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มเจมาร์ท

ทริสเรทติ้งพิจารณาเห็นว่าบริษัทเป็นบริษัทลูกหลักที่สำคัญของกลุ่มเจมาร์ท บริษัทเจมาร์ทเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดและมีอำนาจการควบคุมในบริษัท ณ สิ้นปี 2564 บริษัทเจมาร์ทถือหุ้นจำนวน 53.9% ของบริษัท บริษัทมีบทบาทที่สำคัญในธุรกิจด้านการเงินของกลุ่มซึ่งเป็นธุรกิจแกนหลักของนโยบายการดำเนินธุรกิจที่กระจายตัวของกลุ่ม คณะผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัทและบริษัทเจมาร์ทมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด โดยทิศทางธุรกิจและเป้าหมายทางการเงินของบริษัทได้รับการกำหนดโดยบริษัทเจมาร์ทผ่านทางคณะกรรมการของบริษัท แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้รับวงเงินกู้จากบริษัทเจมาร์ท แต่บริษัทก็ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากการเพิ่มทุนผ่านการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รวมถึงการใช้สิทธิซื้อหุ้นตามการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนที่ได้ดำเนินไปล่าสุดนี้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทมีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับชื่อเสียงของบริษัทเจมาร์ทผ่านการใช้ชื่อทางการค้าร่วมกันอีกด้วย

-สร้างผลกำไรสุทธิอย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มเจมาร์ท

บริษัทเป็นผู้สร้างกำไรสุทธิให้แก่กลุ่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ทรายอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันถึงสถานะในการเป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของบริษัทเจมาร์ท บริษัทสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่น่าพอใจเสมอมา โดยในปี 2564 รายได้รวมและกำไรสุทธิของบริษัทมีสัดส่วน 31% และ 74% ของรายได้รวมและกำไรสุทธิรวมของบริษัทเจมาร์ทตามลำดับ

ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรและการมีส่วนสนับสนุนของบริษัทต่อกลุ่มเจมาร์ทจะยังคงมีต่อไปจากแผนการขยายธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญโดยการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจำนวน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2564 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 57.9% เพิ่มขึ้นจาก 51.1% ในปี 2563 จากการที่สัดส่วนของสินทรัพย์ที่ตัดจำหน่ายต้นทุนครบแล้วมีจำนวนมากขึ้น และการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ทำได้ดีขึ้น ซึ่งเห็นได้จากอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวดีขึ้นเป็น 71.7% ในปี 2564 จาก 67.8% และ 58.6% ในปี 2563 และ 2562 ตามลำดับ

  • มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน

บริษัทยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีฐานข้อมูลการติดตามหนี้ที่ยาวนานมากกว่า 20 ปี ซึ่งมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถรักษาการเติบโตทางธุรกิจและประสิทธิภาพในการดำเนินงานเอาไว้ได้ ทั้งนี้ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน ในปี 2564 บริษัทมีมูลหนี้คงค้างของหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นส่วนที่ตัดจำหน่ายต้นทุนครบแล้วจำนวน 4.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4.33 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ในด้านสินทรัพย์รวมทั้งหมดของบริษัท บริษัทมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 196% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มทุนผ่านการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนและการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาเพิ่มในปี 2564 บริษัทได้ใช้เงินจำนวน 8.5 พันล้านบาทในการลงทุนซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่มเติมในปี 2564 ซึ่งเกินจากงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 4-5 พันล้านบาท

สำหรับในปี 2565 บริษัทได้ตั้งงบประมาณจำนวน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารเพิ่ม ทริสเรทติ้งคาดว่าสินทรัพย์รวมของบริษัทจะเติบโตขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าบนสมมติฐานการลงทุนเพิ่ม 1 หมื่นล้านต่อปี ในช่วง 5 ปีหลัง บริษัทได้ขยายเข้าสู่การบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน ในปี 2564 บริษัทได้ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของเงินลงทุนทั้งหมด ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 3-5 ปีก่อนที่หนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันเหล่านี้จะเริ่มสร้างรายได้อย่างมีนัยสำคัญแก่บริษัท ปกติแล้วหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันจะใช้เวลาในการบริหารจัดการที่ยาวนานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนเนื่องจากมีกระบวนการจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายที่ยาวนานและต้นทุนของหนี้ด้อยคุณภาพที่สูงกว่า ถึงแม้ว่าสัดส่วนของหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมุ่งเน้นในส่วนของหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกันซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดีต่อไป

  • ความร่วมมือและการสนับสนุนในธุรกิจการเงินของกลุ่ม

การให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินเป็นจุดแข็งอีกด้านหนึ่งของบริษัท กลุ่มลูกค้าหลักที่บริษัทได้รับการว่าจ้างให้ติดตามเร่งรัดหนี้สินประกอบไปด้วยสถาบันการเงิน ตลอดจนผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจสินเชื่อเพื่ออุปโภคและบริโภค (Consumer Lending) และธุรกิจอื่น ๆ บริษัทมีภาระหนี้คงค้างที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามที่ระดับประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การว่าจ้างจากสถาบันการเงินปรับตัวลดลงจากการที่ปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพลดลงจากมาตราการช่วยเหลือต่าง ๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทมีรายได้จากค่าบริการติดตามเร่งรัดหนี้สินอยู่ที่ 301 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของรายได้รวมในปี 2564 ลดลงจาก 362 ล้าน หรือ 11% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2563

นอกเหนือจากการดำเนินงานในธุรกิจปกติของบริษัทเองแล้ว บริษัทยังมีความร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มเจมาร์ทเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยบริษัทให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินให้แก่บริษัทที่ให้บริการสินเชื่อในกลุ่ม เช่น บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) (อันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ "BBB/Stable") บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด (อันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ "A-/Stable") และ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับ บมจ. เจเอเอส แอสเซ็ท (J) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเจมาร์ทที่ดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับการสนับสนุนด้านการช่วยปรับปรุงและจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่รอการขายของบริษัทด้วย บริษัทยังร่วมมือกับบริษัท เคบี เจ แคปปิตอลในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ลูกค้าของบริษัท ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังมีการประชาสัมพันธ์จำหน่ายสินทรัพย์รอการขายผ่านสาขาร่วมของกลุ่ม เจ มาร์ท (Synergy Shop) อีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งตั้งอยู่บนความคาดหมายที่บริษัทจะยังคงดำรงสถานะในการเป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่มบริษัทเจมาร์ทต่อไป

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีสถานะเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มเจมาร์ทและยังคงมีบทบาทสำคัญในการติดตามและจัดเก็บหนี้ที่สอดคล้องกับนโยบายโดยรวมของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามสถานะเครดิตของบริษัทเจมาร์ท ทั้งนี้ ในกรณีที่สถานะความสำคัญของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเจมาร์ทนั้นลดน้อยถอยลงก็อาจทำให้อันดับเครดิตของบริษัทปรับลดลงได้ด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ