ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร LOXLEY ที่ BBB แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 10, 2022 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ที่ระดับ "BBB" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ "BBB+" โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนขึ้นอยู่กับสถานะเครดิตของทั้งผู้ค้ำประกันและผู้ออกตราสาร ทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทได้รับการค้ำประกันในสัดส่วน 45% ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระโดย ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จาก ทริสเรทติ้ง

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความหลากหลายของแหล่งที่มาของรายได้ ความสม่ำเสมอของเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากบริษัทร่วม และความสัมพันธ์ของบริษัทที่มีมาอย่างยาวนานทั้งกับลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำและรายได้ที่ผันผวนจากงานโครงการ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • ธุรกิจที่หลากหลายช่วยลดความเสี่ยงด้านรายได้ ความแข็งแกร่งด้านธุรกิจของบริษัทเกิดจากการมีรายได้ที่หลากหลาย ทั้งนี้ บริษัทจำหน่ายสินค้าและให้บริการหลายรูปแบบซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (2) ธุรกิจพลังงาน (3) ธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ (Network Solutions) (4) ธุรกิจจัดจำหน่าย และ (5) ธุรกิจบริการ โดยแหล่งรายได้ที่หลากหลายจากธุรกิจจำนวนมากดังกล่าวมีส่วนช่วยลดความผันผวนของกระแสรายได้ของบริษัทลงได้ในระดับหนึ่ง

ในปี 2564 การเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายช่วยลดทอนรายได้ที่ลดลงจากธุรกิจอื่นของบริษัทได้บางส่วน รายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายเติบโต 26% เนื่องจากผู้บริโภคอยู่ที่บ้านมากขึ้นจากมาตรการปิดเมืองจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลักอื่น ๆ ของบริษัทก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจากโครงการต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินงานให้เสร็จได้ตามแผนในระหว่างที่มีมาตรการปิดเมือง ประกอบกับภาครัฐเลื่อนการประมูลในหลายโครงการออกไป ทำให้รายได้จากการดำเนินงานในปี 2564 จึงลดลงมาอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท จาก 1.4 หมื่นล้านบาทในปีก่อน

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จะอยู่ที่ระดับ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2565-2567 โดยรายได้ในปี 2565 หลักๆมาจาก 70% ของมูลค่างานในมือ ณ 31 ธันวาคม 2564 เป็นจำนวน 7 พันล้านบาท พร้อมกับรายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายจำนวน 4.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการผ่อนคลายของภาครัฐร่วมกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นตัวผลักดันรายได้จากงานโครงการต่าง ๆ ในช่วงปีประมาณการ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งมองว่ารายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและจากการมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดีขึ้น

  • รายได้ค่อนข้างมากจากเงินปันผลรับ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมของบริษัท ได้แก่ บริษัท บีพี-คาสตรอล (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด จะยังคงเป็นสัดส่วนที่สำคัญต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ตลอดช่วงปีประมาณการ โดยบริษัทคาดว่าจะได้รับเงินปันผลประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปีในปี 2565-2567

บริษัทบีพี?คาสตรอลเป็นผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่น ในขณะที่บริษัทเอ็นเอส บลูสโคป เป็นผู้ผลิตเหล็กแผ่นเรียบเคลือบโลหะและเคลือบสี ทริสเรทติ้งคาดว่าทั้งสองบริษัทจะมีผลประกอบการที่ดีในอีก 3 ปีข้างหน้าและจ่ายเงินปันผลจำนวนมากให้แก่ผู้ถือหุ้น

  • คาดว่าอัตราการทำกำไรจะเพิ่มขึ้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการตั้งสำรองความเสียหายจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากงานโครงการ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ของบริษัทจะสามารถคงไว้ได้ที่ระดับ 5% ตลอดช่วงปีประมาณการ โดยคาดว่าการตั้งสำรองสำหรับงานโครงการดังกล่าวเพียงพอแล้ว นอกจากนี้ บริษัทมีแนวโน้มที่จะเข้าประมูลงานโครงการที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น โดยเน้นโครงการที่บริษัทมีประสบการณ์และความสามารถ รวมทั้งบริษัทยังคงมีการควบคุมประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2564 EBITDA และ อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้อยู่ที่ 800 ล้านบาทและ 6.9% ตามลำดับ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการกลับรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าใน บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของบริษัท โดยทางบริษัทล็อกซเล่ย์ จีเท็คนั้น ชนะคดีความกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และได้จ่ายเงินที่ได้รับมาบางส่วนให้กับบริษัทเป็นจำนวน 771 ล้านบาท รายได้จากรายการนี้จะช่วยหักล้างค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองสำหรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากงานโครงการข้างต้น โดยถ้าไม่รวมรายการรายได้และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้ง 2 รายการนี้จะทำให้ EBITDA และอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้อยู่ที่ 600 ล้านบาทและ 5% ตามลำดับ

  • มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับคู่ค้า บริษัทได้สร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยบริษัทมีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าภาครัฐหลายแห่งจากการมีประวัติผลงานในโครงการจำนวนมากที่แล้วเสร็จตามเป้าหมาย นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้ารายสำคัญให้แก่ผู้ผลิตและจำหน่ายระดับโลกมาอย่างยาวนานอีกด้วย

ความชำนาญทางเทคนิคของพนักงานเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของบริษัท บริษัทมีความสามารถในการให้บริการและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพสูงในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้บริษัทสามารถชนะงานประมูลอย่างต่อเนื่องในหลายโครงการของภาครัฐและภาคเอกชน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงความสามารถไว้ได้อย่างต่อเนื่องในอีกหลายปี

  • สถานะทางการเงินปรับตัวดีขึ้น สถานะทางการเงินของบริษัทเริ่มกลับมาแข็งแกร่ง โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 2.6 เท่าในปี 2564 จากระดับ 6.8 เท่าในปี 2563 และ -10.7 เท่าในปี 2562 ทั้งนี้ การปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างมากเนื่องจากการลดลงอย่างมากในส่วนของหนี้ของบริษัทรวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการทำกำไร

นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วยังลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 26.2% ในปี 2564 จากระดับ 30.1% ในปี 2563 และ 41.7% ในปี 2562 อีกด้วย

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน EBITDA ต่อปีของบริษัทที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 500-600 ล้านบาทในช่วงปี 2565-2567 จะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 3 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วคาดว่าจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 22% ในปี 2567

  • สภาพคล่องเพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในระดับที่เพียงพอ บริษัทมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 2.5 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 2.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 รวมถึงเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท แหล่งเงินทุนของบริษัทเหล่านี้คาดว่าจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้และการลงทุนของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีภาระในการชำระหนี้ระยะยาวจำนวนประมาณ 1.0 พันล้านบาทในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2564 บริษัทมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นคงค้างจำนวน 1.6 พันล้านบาท ในขณะที่มีงบลงทุนสำหรับปี 2565 จำนวนประมาณ 300 ล้านบาท

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ตามหลักเกณฑ์การคำนวณที่กำหนดในหนังสือชี้ชวน) ณ เดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 1.01 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 2.5 เท่า

  • สถานะเครดิตของผู้ค้ำประกัน ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกสิกรไทยที่ "AA+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของธนาคารซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ รวมถึงการที่ธนาคารมีพอร์ตเงินให้กู้ยืมที่หลากหลาย มีสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง และมีสถานะที่แข็งแกร่งในด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากการที่ธนาคารมีลูกค้าในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นจำนวนมากซึ่งมีความเปราะบางต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ในระหว่างปี 2565-2567 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทดังต่อไปนี้

  • รายได้จะอยู่ระหว่าง 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
  • อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 5%
  • งบประมาณลงทุนจะอยู่ที่ประมาณทั้งสิ้น 300 ล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันในการประมูลงานโครงการต่อไปได้และจะยังรักษาระดับรายได้จากงานโครงการและมีอัตรากำไรที่ดีขึ้น

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดจากธุรกิจหลักของบริษัทปรับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงบริษัทสามารถปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความสามารถในการประมูลโครงการที่อ่อนแอลงหรือเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมที่ลดลงอย่างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ