BANPU โชว์ EBITDA Q1/65 พุ่ง 117% ตามราคาพลังงาน,ศึกษาสร้าง New S-Curve

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 11, 2022 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 สามารถสร้างกระแสเงินสดและผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง มีรายได้จากการขายรวม 1,256 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 41,509 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 520 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19,247 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 71% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 596 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19,693 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 117% จากปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากความสามารถในการปรับตัว เพื่อตอบรับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกที่กระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานและเศรษฐกิจระดับมหภาค

รวมทั้งกระแสเงินสดจากพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนใน Sunseap Group ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการลงทุนในธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้น พร้อมเร่งเดินหน้าขยายธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ทั้งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน รวมทั้งหาโอกาสสร้าง New S-Curve ที่มีศักยภาพและอัตราการเติบโตสูง

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 1/65 บริษัทสามารถสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งจากภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโลกและความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูง โดยมีกระแสเงินสดที่เติบโตจากทั้งจากธุรกิจที่มีอยู่และจากธุรกิจที่เข้าไปลงทุนเพิ่มใหม่ ๆ

BANPU ยังคงมุ่งเดินหน้าสร้างการเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์พลังงานโลกอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยกระจายความเสี่ยง และคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ (Antifragile) จากปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงาน ภาวะความไม่สงบทางการเมืองในยุโรป อัตราดอกเบี้ยและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของกลุ่มบ้านปูในการรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งบ้านปูยังหาโอกาสสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังที่เห็นจากความสำเร็จในการลงทุนที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

สำหรับการเดินหน้าในการสร้างการเติบโตของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

  • กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ทางด้านธุรกิจเหมือง ยังคงรักษากำลังการผลิตและปริมาณสำรองที่ดีเพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการในตลาดและคว้าโอกาสที่จะสามารถสร้างมูลค่าให้ธุรกิจ ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คว้าโอกาสจากสถานการณ์ราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้น และมองหาโอกาสต่อยอดการลงทุนจากแหล่งก๊าซต้นน้ำไปยังธุรกิจกลางน้ำ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป มุ่งเน้นเสริมสร้างประสิทธิภาพและควบคุมต้นทุนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ด้วยความยืดหยุ่นจากราคาต้นทุนพลังงานที่มีความผันผวนควบคู่กับการขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีการขยายการลงทุนในตลาดกลยุทธ์สำคัญที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ยังคงเน้นการสร้างอัตราการเติบโตให้พอร์ตเทคโนโลยีพลังงานที่มีอยู่ รวมทั้งลงทุนและพัฒนาโซลูชั่นหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานรูปแบบใหม่ และเสริมสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจที่มีอยู่กับธุรกิจใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เมืองอัจฉริยะ โซลาร์ลอยน้ำ และระบบการบริหารจัดการพลังงาน และยังเดินหน้าขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา ขนาด 5.9 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย และการเดินหน้าโครงการ Summer Lasalle เฟส 3 ในกรุงเทพมหานคร ขนาด 982 กิโลวัตต์
"นอกจากการมุ่งสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เรายังคงศึกษาโอกาสที่จะเติบโตในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงและสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาว หรือ New S-Curve ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์เทรนด์แห่งอนาคตและสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นของเราในระยะยาว" นางสมฤดี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ