ZoomIn: "บิทคอยน์" เงินตราหรือมายา การลงทุนหรือการพนัน (ตอนที่ 1)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 20, 2022 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในปัจจุบันนี้เงินตราเข้ารหัส หรือที่เรียกว่า Cryptocurrencies กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่พยายามแสวงหาแนวทางการลงทุนใหม่ๆ สะท้อนความเป็นคนรุ่นใหม่ และในตระกูลของเงินตราเข้ารหัสที่กำลังนิยมมากในขณะนี้ คือบิทคอยน์ (Bitcoin)

บิทคอยน์ และเงินตราเข้ารหัสอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เงินตรา แต่คือมายา และการลงทุนในบิทคอยน์ก็ไม่ใช่การลงทุน แท้จริงแล้วคือการเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูง เทียบเคียงได้ไม่ต่างจากการพนัน

อย่างไรก็ตาม เงินตราเข้ารหัสหรือเงินคริปโทฯ ดังกล่าวข้างต้นนี้ ไม่รวมถึงเงินคริปโทฯ ที่มีการดำเนินธุรกิจหนุนหลังและสกุลเงินดิจิตัลของรัฐ (CBDC) ที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้ออก ซึ่งรวมถึงเงินบาทดิจิตอลด้วย

*พื้นฐานที่สำคัญบางประการเกี่ยวกับบิทคอยน์

บิทคอยน์ว่าคืออะไร สร้างขึ้นมาได้อย่างไร

บิทคอยน์ ถูกสร้างขึ้นมาจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหลักการของบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งถือว่า เป็นวิธีการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง เพราะมีการเข้ารหัสของข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวที่จัดเก็บอยู่ในบล็อก (Block) ที่เรียกว่า หมายเลขแฮช (hash number) โดยที่บล็อกใหม่จะต้องอ้างอิงหมายเลขแฮชของบล็อกก่อนหน้า ทำให้เกิดการร้อยเรียงเป็นลูกโซ่ จึงเรียกว่าบล็อกเชน

หากใครจะแฮก (hack) และแก้ไขข้อมูลในบล็อก จะทำให้หมายเลขแฮชเปลี่ยนไป ทำให้เกิดปัญหา error ขึ้น และเนื่องจากบิทคอยน์เป็นระบบการทำงานที่เรียกว่า Peer-to-Peer Electronic Cash System ซึ่งเป็นการจัดระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่กำหนดให้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายทุกเครื่องเท่าเทียมกัน มีโปรแกรมและแฟ้มข้อมูลเก็บไว้เอง จึงเรียกบิทคอยน์ว่าเป็นระบบเงินคริปโทแบบกระจายอำนาจ (decentralized cryptocurrency) ที่คนอื่นๆ สามารถตรวจสอบได้จึงมีความปลอดภัยสูง

บิทคอยน์ ถูกกำหนดจำนวนไว้ที่ 21 ล้านบิทคอยน์ และ Satoshi Nagamoto ได้สร้างบล็อคแรกของบิทคอยน์ (Genesis Block) ซึ่งได้ก่อกำเนิดบิทคอยน์ครั้งแรกจำนวน 50 เหรียญในปี 2552 โดยบิทคอยน์จะเพิ่มขึ้นได้โดยการขุดเหมือง (mining) ซึ่งคือกระบวนการในการสร้างบิทคอยน์ใหม่ โดยการแก้ไขปริศนาคณิตศาสตร์ ซึ่งจะต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ติดตั้งชิปแบบพิเศษ มีสมรรถนะสูง

การแก้ไขปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์นี้เรียกว่า Proof of Work ก็คือการหาหมายเลขแฮชของบล็อคใหม่ที่มีค่าไม่เกินค่าเป้าหมายที่กำหนด (target hash) โดยกระบวนการขุดเหมืองดังกล่าว ผู้ขุดเหมืองต้องทำการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดในระบบบิทคอยน์และข้อมูลของธุรกรรมใหม่ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งแก้ไขปริศนาคณิตศาสตร์จนได้หมายเลขแฮชของบล็อกใหม่ และเมื่อข้อมูลบล็อคใหม่ได้รับการตรวจสอบและยอมรับโดยผู้ขุดเหมืองรายอื่นๆ ผู้ขุดเหมืองรายดังกล่าวจึงจะได้รับบิทคอยน์ตอบแทน จนถึงปัจจุบันนี้มีบทคอยน์หมุนเวียนทั้งสิ้นกว่า 18 ล้านบิทคอยน์

การขุดเหมืองในยุคแรกสามารถใช้แล็ปท็อปในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปและมีผู้เข้ามาขุดเหมืองบิทคอยน์มากขึ้น การแข่งขันก็เพิ่มขึ้น ระดับความยากในการแก้ปริศนาคณิตศาสตร์จึงมากขึ้นด้วย โดยในปี 2552 ซึ่งเป็นปีแรกของการขุดเหมืองบิทคอยน์ ระดับความยากอยู่ที่ระดับ 1 แต่ในปลายปี 2564 ความยากเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 22 ล้านล้าน จึงต้องใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง จนแล็ปท็อปธรรมดาไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อวัตถุประสงค์ ดังกล่าวนี้โดยเฉพาะ เช่น application-specific integrated circuit (ASIC)

*บิทคอยน์ไม่ใช่เงินตรา แท้ที่จริงแล้วคือมายา

ทำไมบิทคอยน์จึงไม่ใช่เงินตรา ในทางเศรษฐศาสตร์ เงินตรา (Fiat Money) ซึ่งก็คือธนบัตร เหรียญกษาปณ์นั้น จะต้องมีคุณสมบัติสามประการ คือ หนึ่ง เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Means of Exchange) สอง เป็นแหล่งในการเก็บมูลค่า (Store of Value) และสาม สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) ซึ่งบิทคอยน์ไม่มีคุณสมบัติทั้งสามประการเลย

ในส่วนของการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้น บิทคอยน์มีความผันผวนในมูลค่าอย่างมาก หลังจากที่ราคาเริ่มสูงขึ้นเหนือ 10,000 เหรียญสหรัฐในครึ่งหลังของปี 2563 และขึ้นมาสูงสุดถึงกว่า 63,000 เหรียญสหรัฐในเดือนเมษายน 2564 และลดลงมาต่ำสุดถึงประมาณ 29,000$ ในเดือนกรกฎาคม 2564

ที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งคือความผันผวนในช่วงระยะเวลาอันสั้น เป็นอุปสรรคต่อการใช้บิทคอยน์ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถคาดการณ์และวางแผนล่วงหน้าเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายได้เลย เช่น บิทคอยน์ เคยมีราคาลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในภายในหนึ่งเดือนจาก 63,503 เหรียญสหรัฐในเดือนเมษายน 2564 ลงมาเป็น 34,616$ ในเดือนพฤษภาคม 2564

งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Empirical Economics ในปี 2564 ระบุว่าบิทคอยน์มีความผันผวนสูง และสูงกว่าความผันผวนของเงินสกุลหลักเช่น ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และ เยน จึงไม่สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทยได้ออกกฎห้ามใช้เงินคริปโตจ่ายค่าสินค้าและบริการตามผลการหารือกับ ธปท. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565

ในส่วนของการเป็นแหล่งในการเก็บมูลค่า ก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่ต้องการถือบิทคอยน์เสมือนสินทรัพย์ในระยะยาว ก็ไม่อาจจะมีความมั่นใจได้ว่ามูลค่าสินทรัพย์นี้จะเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยจะไม่ด้อยค่าลงไป ในส่วนของการใช้ชำระหนี้ตามกฎหมาย ขณะนี้ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับบิทคอยน์ในการชำระหนี้ตามกฎหมายได้

ที่สำคัญคือสิ่งที่จะเป็นเงินตราได้ จะต้องได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้ใช้ การที่เงินตราที่ใช้หมุนเวียนในแต่ละประเทศได้รับการยอมรับเพราะมีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น ทองคำ เงินตราต่างประเทศ หรือสถานะของความเป็นรัฐ แต่บิทคอยน์ไม่มีสินทรัพย์ใดๆ หนุนหลังทั้งสิ้น

เหตุที่ยังคงมีราคาและซื้อขายกันอยู่เพราะกระแสในสังคมที่ทำให้เข้าใจว่าเงินคริปโตคือเงินยุคใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่เงินตราในปัจจุบัน และเป็นของหายาก มีจำนวนจำกัด การยกเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ระบบเงินคริปโตยังทำงานอยู่ได้เสมือนระบบแชร์ลูกโซ่ แต่หากเมื่อใดก็ตามที่กระแสและความเชื่อดังกล่าวหมดไป ระบบเงินคริปโทฯ ในลักษณะนี้ก็คงถึงจุดจบ

ดร. วิทยา ปิ่นทอง

อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ

อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


แท็ก การพนัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ