(เพิ่มเติม) SSP เล็งขยายวินด์ฟาร์มในเวียดนามกว่า 200 MW,บุ๊กกำไรขายโซลาร์ญี่ปุ่นดัน Q2/65 นิวไฮ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 13, 2022 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในเวียดนามอีก 200 เมกะวัตต์ หลังจากได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ กำลังผลิตติดตั้งราว 49 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 48 เมกะวัตต์ โดยให้ความสนใจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เนื่องจากเวียดนามยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก ซึ่งเป็นการเติบโตไปตามภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศที่มีการเติบโตสูง ขณะที่เวียดนามมีชายฝั่งค่อนข้างยาว ทำให้การผลิตไฟฟ้า Off Shore Wind Farm มีประสิทธิภาพที่ดี

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการลงทุนในเวียดนามขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส เบื้องต้นบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมแผนงานลงทุนวินด์ฟาร์มเฟส 2 ในเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ และปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนทำการศึกษาและรอความชัดเจนจากภาครัฐของเวียดนามเพื่อขยายการการลงทุนในโครงการถัดไป

ปัจจุบันบริษัทมีฐานะทางการเงินที่มีความแข็งแกร่ง และการขายโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาเป็นแรงหนุนให้ฐานเงินทุนมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับแผนการขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ วางเป้าภายใน 3 ปีจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นเท่าตัวแตะระดับ 500 เมกะวัตต์ จากขณะนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 240 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนจากแหล่งพลังงานใหม่ๆ เช่นพลังงานลม หรือ ชีวมวล เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่กระจุกตัวอยู่แต่พลังงานจากแสงอาทิตย์

นอกจากเวียดนามแล้ว ยังมองโอกาสขยายการลงทุนในอินโดนีเซียที่มีธุรกิจโซลาร์รูฟอยู่แล้วราว 30 เมกะวัตต์ รวมถึงมองโกเลียที่ได้เข้าไปร่วมทุน 75% ในโรงไฟฟ้าขนาด 15 เมกะวัตต์ที่จ่ายไฟฟ้าไปแล้วตั้งแต่ปี 62 ส่วนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ LEO 2 ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 22 เมกะวัตต์เตรียมจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไตรมาส 2/67

นายวรุตม์ กล่าวอีกว่า สำหรับการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮิดากะในญี่ปุ่น กำลังการผลิตติดตั้ง 21 เมกะวัตต์ มูลค่า 2,800 ล้านเยน หรือเทียบเท่ากับ 718.18 ล้านบาทนั้น บริษัทจะบันทึกกำไรราว 280 ล้านบาทในไตรมาส 2/65 ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการเติบโตอย่างมากทำสถิติใหม่ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และบริษัทคาดว่าในปี 65 นี้รายได้จะเติบโตได้อย่างต่ำ 20-30%

สำหรับค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง บริษัทฯ มีการทำป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (เฮดจิ้ง) เอาไว้แล้ว จึงกระทบต่อผลการดำเนินงานไม่มากนัก ขณะเดียวกันเงินกู้ ที่เป็นดอกเบี้ยจ่ายที่เป็นเงินเยน จะได้ประโยชน์จากค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ส่วนโรงไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม มองโกเลีย อินโดนีเซีย บริษัทฯ รับรู้รายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์ สวนทางกับค่าเงินเยน ทำให้ภาพรวมได้ประโยชน์มากกว่า

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีเงินกู้ที่เป็นภาระดอกเบี้ยประมาณ 14,000 ล้านบาท โดย 47% เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) และที่เหลือเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) ซึ่งในส่วนนี้ราว 35-37% เป็นของเงินเยน ที่บริษัทฯ มีการลงทุนใน 3-4 โครงการในประเทศญี่ปุ่น โดยมีดอกเบี้ยที่ต่ำมาก และยังไม่เห็นแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามในภาพรวม 80% บริษัทฯ ได้มีการล็อคความเสี่ยงในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยไว้แล้ว ส่วนอีก 20% เป็นแบบลอยตัว โดยครึ่งหนึ่งเป็นสกุลเงินดอลลาร์ หามีการขึ้นดอกเบี้ยก็อาจได้รับผลกระทบจากตรงนี้บ้าง แต่น่าจะกระทบกับกำไรไม่เกิน 1% ของกำไรสุทธิ

ขณะที่ค่าเงินบาท บริษัทฯ เตรียมเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อปรับโครงสร้างวงเงินที่เป็นเงินบาท ซึ่งจะทำให้มีกระแสเงินสดที่ดีขึ้น

ด้านความคืบหน้าการขายคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งยังคงความตั้งใจนำเอาคาร์บอนเครดิตที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ไบโอแมส วินฟาร์ม ไปขายต่อให้กับผู้ซื้อที่อยู่ในประเทศที่เรามีสินทรัพย์นั้นๆ อยู่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าถ้าไม่มีการ delay น่าจะเห็นรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตเข้ามาในปี 66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ